'ออสท์แลนด์' แจงปม ATK ตรวจโควิดไม่ผ่าน FDA สหรัฐ - เรียกคืนสินค้า

'ออสท์แลนด์' แจงปม ATK ตรวจโควิดไม่ผ่าน FDA สหรัฐ - เรียกคืนสินค้า

ชี้แจงยัน ATK ของ Lepu Medical Technology ได้รับมาตรฐานยุโรป ตัวแทน "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" ชี้ไม่ผ่าน FDA สหรัฐ เพราะนโยบายกีดกันทางการค้าจีนสมัยโดนัล ทรัมป์ ส่วนกรณีเรียกคืนสินค้าเพราะเป็นสินค้าลักลอบนำเข้า

กลายเป็นประเด็นร้อน กรณี "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" ล่าสุด นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" และเป็นผู้นำ ATK  เข้าประมูล ในโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า 

ณุศาศิริ มีแผนรุกเดินหน้าธุรกิจด้านการแพทย์-ด้านสุขภาพ พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทย่อย "พานาซี กรุ๊ป" เป็น "เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) " เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการในธุรกิจด้านการแพทย์ และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพการดำเนินงานในอนาคตและพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพ (Wellness)

ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เข้าซื้อ โรงพยาบาลพานาซีเยอรมนี และพบว่า ในประเทศเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป มีการใช้และวางจำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ซึ่งผลิตโดย Lepu Medical Technology ประเทศจีน อย่างแพร่หลาย และได้รับใบรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมันนีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับรองมาตรฐานจาก EU
 

ในขณะที่ประเทศไทย บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาทำตลาดซึ่งบริษัทจึงได้ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อเสนอขายกับหน่วยงานต่างๆ และผ่านแพลตฟร์อมของบริษัท 

หลังจากมีข่าว FDA ได้สั่งระงับใช้ชุดตรวจ เชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology ทางบริษัทได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า Lepu Medical Technology ไม่เคยขอ FDA ในสหรัฐอเมริกา เพราะช่วงที่โดนัล ทรัม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ไม่อนุญาตให้สินค้าจากจีน เข้าไปขอ  FDA ส่วนกรณี FDAสหรัฐขอเก็บคืน เพราะว่าเป็นสินค้าที่ถูกลักลอบนำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

“สำหรับการประมูลในโครงการ สปสช. เป็นณุศาศิริที่เข้าไปประมูล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่ง ณุศาศิริ มีทุนจดทะเบียนกว่า 200 ล้านบาทและมีศักยภาพพอที่จะนำเข้า ATK มาให้รัฐบาลได้ทันตามกำหนดภายใน 14 วัน ซึ่งราคาที่ยื่นประมูลแต่ละบริษัทไม่ได้ต่างกันมาก เราชนะประมูลคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่าแค่ 2 บาท และ ATK ที่นำเข้าประมูลไม่ได้ราคาถูก แต่ปริมาณมันมากเราก็จะซื้อได้ในราคาที่ต่ำลง เช่นสั่งซื้อในประมาณ 8.5 ล้านชิ้นทำให้เรทราคานั้นต่ำลง จากที่เคยนำเข้าจำนวนหลักแสนชิ้น เพราะยิ่งสั่งซื้อมากก็ยิ่งสามารถต่อรองราคากับทางโรงงานผลิตได้ 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความกระจ่างในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับ  Antigen Rapid Test Kit ที่ผลิตโดย  Lepu Medical Technology บริษัทจะมีการแถลงข่าวโดยนักเทคนิคการแพทย์อีกครั้ง

เบื้องต้น บริษัทได้ทำข้อตกลงในการนำเข้าและส่งมอบ ATK ให้ทางอภ. ทั้งหมด 8.5 ล้านชิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม โดยล็อตแรกจำนวน 4 ล้านชิ้นจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ส่วนล็อตที่ 2 จำนวน4.5 ล้านชิ้น จะเดินทางเข้ามาถึงไทยในช่วงสิ้นเดือนนี้ โดยบริษัทได้เช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อนำเข้าโดยเฉพาะ และทันทีที่สินค้าเข้ามาถึงประเทศไทยจะทำการนัดตรวจรับและกระจาย ATK ออกไปทันที เพราะเรารู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้อย่างเร่งด่วนในตอนนี้"

"ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" ชนะประมูลจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเสนอราคาต่ำสุด ชุดละ 70 บาท รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท

ภายหลังมีการรายงานข่าวว่า FDA ได้สั่งระงับใช้ชุดตรวจ เชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology ซึ่ง ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ได้นำเข้า ส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่า ATK ของ "ออสท์แลนด์ แคปปิตอล" ที่ชนะประมูลนั้นมีประสิทธิ์ภาพหรือไม่ และมีการเรียกร้องให้ อภ.เลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปก่อน ซึ่ง นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้ออกมาเปิดเผยว่าทาง อภ. จะขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน และจะร่วมมือกับ อย.เร่งทำการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด