'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ค้านออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมโควิด เสนอทบทวนซื้อ ATK คุณภาพต่ำ
'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ค้านออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมโควิด เหมารวมความผิดพลาดบริหารจัดการวัคซีน เสนอทบทวนซื้อ ATK คุณภาพต่ำ หวั่นผลตรวจผิดพลาดทำสถานการณ์ยิ่งแย่ลง แนะรัฐใช้กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนจำกัดการส่งออก“แอสตร้าเซเนก้า”ชั่วคราว 5 เดือนเพื่อนำมาในประเทศก่อน
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการ ม. รังสิต ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรมบุคลากรทางการแพทย์ที่พ่วงการนิรโทษกรรมความผิดพลาดในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีน หรือ พ่วงการนิรโทษกรรมความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและเศรษฐกิจอันเป็นผลของการดำเนินนโยบายที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่มีความจำเป็นในการต้องออกกฎหมายใดๆ เพิ่มเติมเพราะกฎหมายเท่าที่มีอยู่ บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการทำหน้าที่โดยสุจริตอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกทั้ง พ.ร.ก หรือ พ.ร.บ หากต้องมีการออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแบบนี้ ต่อไปการบริหารบ้านเมืองหรือการปฏิบัติราชการก็จะมีการทำงานโดยขาดความรอบคอบและระมัดระวัง และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น มีปัญหาการทำงานผิดพลาดอย่างร้ายแรง หรือ ประมาทเลินเล่อ ก็ไม่ต้องรับผิด ไม่ใช่การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และ เป็นการบริหารที่ปราศจากหลักคุณธรรม ขาดความรับผิดชอบ โดยกฎหมายที่มีอยู่แล้วระบุว่า “ในกรณีการบริการสาธารณสุข ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐ คือ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดในทางส่วนตัว ยกเว้นว่า เกิดจากการจงใจ (ไม่สุจริต) หรือ ประมาท
หาก การออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรม มีเจตนาแฝงเพื่อปกป้องการดำเนินการของ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน ก็อย่าได้ไปอ้างเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้าด่าน ปัจจุบันเรามีกฎหมายปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ไม่เห็นมีประเด็นอะไรต้องวิตกกังวลในการทำหน้าที่ หากความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากการประมาทอย่างร้ายแรง ไม่ได้ทุจริต ไม่มีปัญหาอะไรเลย ประเทศนี้ มี Rule of Law ประเทศถึงมีอนาคต ส่วนหากบุคลากรทางการแพทย์กลัวโดนฟ้องจากการทำหน้าที่ในช่วงวิกฤตการณ์ Covid19 ทางรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขอาจซื้อการประกันภัยหมู่เพื่อคุ้มครองความผิดทางแพ่งให้กับข้าราชการและบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ กรณีเป็นคดีอาญา บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในคดีอาญาเองก็มีเรื่องเกี่ยวกับการกระทำโดยความจำเป็นที่สามารถได้รับการยกเว้นความผิดไม่ให้มีโทษได้
ส่วนที่มีการตั้งคำถามเรื่องการจัดซื้อ ATK ไม่มีคุณภาพโดยองค์การเภสัชกรรม จนกระทั่งกลุ่มแพทย์ชนบทออกมาคัดค้าน ATK จากประเทศจีน แต่หากผู้มีอำนาจจัดซื้อโดยใช้งบเงินกู้มาซื้อของไม่มีคุณภาพจะแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ ทั้งที่ การตรวจเชิงรุกด้วย ATK คุณภาพสูงจะเป็นมาตราหนึ่งช่วยสกัดการแพร่ระบาดของโควิดได้ คนที่จัดซื้อของไม่มีคุณภาพต้องรับผิดชอบ เหมือนซื้อ GT200 มาให้ทหารชั้นผู้น้อยใช้แล้วต้องไปเสี่ยงชีวิตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเมืองไทยไม่มีใครรับผิด แต่คนขาย GT200 ชาวต่างประเทศติดคุกไปแล้วเพราะทำของไม่มีคุณภาพมาหลอกขาย เดิม สปสช. เจาะจงจะซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ยี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รับรอง ทั้ง 2 ยี่ห้อมีผลคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% เพราะเขาซื้อแจกเขาใช้ทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต่อรองราคาได้เหลือเพียง 120 บาท จากที่ WHO ซื้อประมาณ 150 บาท ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ขายให้ WHO ประมาณ 160 บาท แต่ลดให้เรา 140 บาท ทั้งหมดเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง สปสช. จึงผลักดันจนเป็นที่มาของการอนุมัติงบฯกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดองค์การเภสัชกรรมไม่ยึดหลักตามที่ สปสช. ส่งมาให้ แล้วไปจัดซื้อ ATK จากจีนซึ่งคุณภาพต่ำ แม้ราคาถูก แต่ถ้าใช้ไม่ได้หรือไม่มีคุณภาพ มันก็คือการสูญเปล่าทางงบประมาณ และยังไม่ได้ทำให้การแก้ไขวิกฤติโควิดดีขึ้นด้วยหรืออาจแย่ลงไปอีก เพราะตรวจแล้วไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อแน่ หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐและหลายประเทศก็ไม่รับรองอีกต่างหาก
โดยเหตุผลที่ สปสช.ไม่สามารถทำเรื่องตรงไปที่องค์การเภสัชกรรมได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในยุค คสช.ระบุว่า สปสช.ไม่มีสิทธิซื้อเอง ต้องตั้งเรื่องผ่านโรงพยาบาลราชวิถีที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้ให้บริการ ไปให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อแทน นี่ก็เป็น คำสั่งของ คสช. ที่ไม่เข้าท่าและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ที่สุด ควรพิจารณายกเลิก เรื่องจัดซื้อ ATK นี้ ถามว่า ใครต้องรับผิดชอบ ทำให้การแก้ปัญหาโควิดล่าช้า คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องมีคนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ หากสุจริตก็ไม่เป็นไร แต่หากกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นิรโทษกรรมไม่ได้
นอกจากนี้ เขา ระบุว่า รัฐบาลควรต้องใช้กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อจำกัดจำนวนการส่งออก “แอสตร้าเซเนก้า” เพื่อนำมาใช้ในประเทศก่อน และเร่งฉีดวัคซีนทุกคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย ก่อนที่ตัวเลขติดเชื้อรายวันจะพุ่งแตะ 30,000-40,000 คนและผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน บริษัทแอสตร้าเซเนก้ามีโรงงานผลิตอยู่ในดินแดนประเทศไทย และ รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย บริษัทต้องส่งมอบวัคซีนตามความต้องการของรัฐไทยเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของคนไทย รัฐบาลต้องรีบเจรจากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หากบริษัทเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายวัคซีนสำคัญกว่าชีวิตคนไทย รัฐบาลสามารถใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกได้เฉพาะที่เกิน 6 ล้านโดสเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อประเทศไทยจะได้มีวัคซีนใช้อย่างน้อย 6 ล้านโดสต่อเดือน
แต่การตัดสินใจนี้จะอยู่ที่ นายกฯ ผู้เดียว เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจให้นายกฯ หวังว่านายกฯ จะใช้อำนาจนี้ในการดูแลประชาชนชาวไทยและต้องดำเนินการระงับการส่งออกเกินสัดส่วนเพื่อให้วัคซีนเพียงพอใช้ภายในประเทศภายในเดือนนี้เป็นอย่างช้า รีบตัดสินใจก่อนทุกอย่างจะสายเกินเยียวยา ก่อนที่จะช้าเกินไปและระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจต้องล่มสลายลง สามารถทำได้ตาม มาตรา 18 (2) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงทางวัคซีน ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีสาธารณสุข (ตอนนี้โอนอำนาจให้นายกฯ) กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว 5 เดือนเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ “ไทย” เสียความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพื่อให้เราได้มีวัคซีนเพียงพอใช้ในประเทศเพื่อปกป้องชีวิตคนไทย สุขภาพและระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ควรเปิดให้ เอกชน และ โรงพยาบาลเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การประกันของรัฐเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อบริษัทวัคซีน เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อการฉีด เพราะค่อนข้างชัดว่า ประสิทธิภาพหรือความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยนั้นดี แต่ปัญหาคือ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด
ส่วนการนำร่องเปิดประเทศ แม้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัส” จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ได้ช่วยประคับประคองภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้บ้างและสามารถเป็นต้นแบบของการเปิดประเทศให้กับพื้นที่อื่นๆ ควรพิจารณาทยอยเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีและสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขได้อย่างเข้มงวดเคร่งครัดเพื่อชดเชยภาคส่งออกที่อาจชะลอตัวลงจากการติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้น ขอเสนอผ่อนคลายกิจกรรมและพื้นที่เสี่ยงต่ำเพิ่มเติมเพื่อให้คนมีรายได้มีงานทำ การล็อกดาวน์มีประสิทธิผลน้อย ขณะนี้ต้องเร่งตรวจการติดเชื้อเชิงรุกและกันผู้ติดเชื้อออกจากบ้านและชุมชนหรือที่ทำงาน จึงต้องเร่งจัดซื้อ ATK คุณภาพสูงโดยเร็ว และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส การกำหนดเพดานและจำกัดการส่งออกวัคซีนเป็นการชั่วคราวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของคนไทย ความเป็นความตายของประชากรไทยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงและการป้องกันการล่มสลายของระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศเรา
ทั้งนี้ เขา ประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัส Covid จะยังคงเป็นปัญหาวิกฤติสำหรับประเทศไทยและโลกไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี และมีแนวโน้มที่เชื้อจะกลายพันธุ์มีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต นโยบาย มาตรการและการดำเนินการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรค covid ทำได้อย่างน่าผิดหวังมากในหลายประเทศ ฉะนั้นการระบาดจะไม่สิ้นสุดได้ภายใน 1-2 ปี ต่างจากการแพร่ระบาดของอีโบลา ไข้หวัดนก ซาร์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ การระบาดใหญ่อย่างรุนแรงของโควิดเป็นผลจากความไม่รู้ การคอร์รัปชัน การตัดสินใจทางนโยบายผิดพลาดและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การตอบสนองต่อการแพร่ระบาดล่าช้า รวมทั้งไม่สามารถบังคับใช้มาตรการสาธารณสุขดีพอของหลายรัฐบาลทั่วโลก จึงขอเสนอเพิ่มงบลงทุนวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล
เสนอปรับงบประมาณ 2565 และ วางแผนงบปี 2566 ให้นำไปใช้ส่งเสริมงานวิจัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ นอกจากนี้การลงทุนวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์นาโน (Nano-Robot) จะเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคต ควรส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานทางวิจัยศึกษาเรื่อง Micro and Nabo-robotic Technology for medical and Pharmaceutical Application นอกจากนี้ ควรมีงบประมาณในการจัดหาหุ่นยนต์ที่ใช้ในการติดตามผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย ทั้ง Coivd และ Non-Covid เป็นหุ่นยนต์ที่แพทย์สามารถควบคุมจากระยะไกลผ่านระบบเครือข่ายโดยคอมพิวเตอร์ส่วนตัว โดยหุ่นยนต์จะมีกล้อง จอภาพ ไมโครโฟนและลำโพงเสียง
รวมทั้ง หุ่นยนต์ผ่าตัด อย่างหุ่นยนต์ Da Vinci ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ และปัจจุบันนี้ได้ทำหน้าที่ผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 200,000 ครั้ง หรือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ทำงานพื้นฐานซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งผลิตได้แล้ว รัฐบาลควรมีการส่งเสริมให้ หน่วยวิจัยเหล่านี้ในมหาวิทยาลัยจับคู่กับผู้ประกอบการเพื่อสามารถผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและมีแรงจูงใจเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ส่งของในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยยกผู้ป่วยขึ้นเตียง หุ่นยนต์เช็ดตัวผู้ป่วย วัดอุณหภูมิ วัดและทดสอบการติดเชื้อ ขณะนี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีความสำคัญมากเพื่อลดการติดเชื้อของบุคลากรทางแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น