ผ่างบ ’สาธารณสุข’ แสนล้าน สู้วิกฤติโควิด
งบสาธารณสุข สู้โควิดกว่า 1 แสนล้านบาท อนุมัติจากงบเงินกู้ก้อนแรก 51 โครงการ วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท พร้อมงบกลางซื้อวัคซีน ควบคุมระบาดกว่า 4 หมื่นล้าน ชี้มีงบจากเงินกู้ก้อนใหม่อีก 3 หมื่นล้าน พร้อมโยกหมวดฟื้นฟูมาใช้ได้
การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยนับตั้งแต่ระลอกแรกในเดือน ม.ค.2563 ถึงระลอกปัจจุบัน วันที่ 15 ส.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรวม 907,157 คน ซึ่งรัฐบาลต้องจัดงบประมาณหลายส่วนเพื่อรับมือการระบาด โดยเฉพาะการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่อนุมัติสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้จัดสรรสำหรับแผนงานด้านสาธารณสุขรวม 45,000 ล้านบาท แต่การระบาดที่มีอย่างต่อเนื่องส่งให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอและต้องโยกงบประมาณจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามารวมแล้วจัดสรรให้ด้านสาธารณสุขรวม 63,900 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติ 51 โครงการ แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ
1.แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 4 โครงการ วงเงิน 6,301 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 6,666 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74.05%
2.แผนงานหรือโครงการเพื่อจัดซื้อหาอุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุขวัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 20 โครงการ วงเงิน 15,250 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,606 ล้านบาท คิดเป็น 10.53%
3.แผนงานหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกันควบคุมโรค 5 โครงการ วงเงิน 30,360 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 17,334 ล้านบาท คิดเป็น 57.10%
4.แผนงานหรือโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล 14 โครงการ วงเงิน 10,257 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,822 ล้านบาท คิดเป็น 17.77%
5.แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด 8 โครงการ วงเงิน 1,727 ล้านบาท เบิกจ่าย 180 ล้านบาทคิดเป็น 10.43%
ทั้งนี้ รวมแล้วโครงการตามแผนงานด้านสาธารณสุขที่อนุมัติไว้ 63,897 ล้านบาท เบิกจ่าย 25,610 ล้านบาท คิดเป็น 40.08%
"สาธารณสุข" ทยอยขอใช้งบกลาง
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ใช้งบกลาง 2564 เพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอก เม.ย.2563 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.2564 วงเงิน 12,669 ล้านบาท ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564
2.โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 นอกสถานพยาบาล 1,877 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 10 ส.ค.2564
3.โครงการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอก เม.ย.25654 วงเงิน 12,567 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 5 พ.ค.2564
4.โครงการจัดหาวัคซีน Sivovac จำนวน 500,000 โดส วงเงิน 321 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 17 เม.ย.2564
5.โครงการจัดหาวัคซีน AstraZeneca จำนวน 35 ล้านโดส วงเงิน 6,387 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 2 มี.ค.2564
6.โครงการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระยะการระบาดระลอกใหม่ วงเงิน 4,661 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 5 ม.ค.2564
7.โครงการจัดหาวัคซีน AstraZeneca 2,379 ล้านบาท ครม.อนุมัติวันที่ 17 พ.ย.2563
งบค่าตอบแทนบุคลากร-จ้างเหมา
ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดการประชุม ครม.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 อนุมัติโครงการการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอก เม.ย.2563ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.2564 ซึ่งเป็นการขยายโครงการต่อจากโครงการเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 เพื่อดำเนินการจ่ายค่าตอบแทน ได้แก่ ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย ค่าล่วงเวลา (OT) ค่าตอบแทนคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา บุคคลภายนอก ค่าใช้สอย ได้แก่ ค่าอำนวยการและสั่งการเชิงบูรณาการ และค่าจ้างเหมาบริการอื่นๆ
นอกจากนี้ กระทรงวสาธารณสุขรายงานว่าการดำเนินการดังกล่าวจะรองรับมาตรการการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทย ให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงระบบการบริการของสถานพยาบาลและหน่วยบริการ ได้อย่างทั่วถึงสะดวกและรวดเร็ว
โยกงบฟื้นฟูมาเพิ่ม'สาธารณสุข'ได้
นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ในการบริหารจัดการเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ของรัฐบาล ซึ่งในส่วนนี้มีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการที่มีเลขาธิการ สศช.พิจารณาดูแลตามความเหมาะสมอยู่
สำหรับวงเงินงบประมาณสำหรับแผนงานด้านสาธารณสุขที่มีการตั้งวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ก็สามารถที่จะบริหารจัดการโดยโยกเอางบประมาณในส่วนของเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด และงบประมาณแผนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจมาใช้ได้หากมีความจำเป็นซึ่งในการกู้เงินครั้งหลังนี้วางเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
ส่วนงบประมาณที่ไว้ใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปนอกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่มีงบกลาง วงเงิน 89,000 ล้านบาท ยังมีงบกลางฯโควิด-19 ที่มีการแปรญัตติไว้ที่วงเงิน 16,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้การใช้จ่ายจะคล้ายกับงบกลาง 40,000 ล้านบาท ที่เป็นงบกลางสำหรับใช้ในสถานการณ์โควิดในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งวงเงินนี้ส่วนใหญ่ไว้ใช้ในเรื่องของสาธารณสุข การซื้อยาเวชภัณฑ์และเครื่องมือการแพทย์ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่วนนี้ถือว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลจะมีเงินอีกส่วนไว้ใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดต่อไปอีกระยะ
คาดต้องการงบสาธารณสุขสูง
นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า วงเงินจำนวนนี้หากเทียบกับรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่มีจำนวนมากก็จะเห็นว่าไม่ใช่วงเงินที่มากนัก โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมามีการอนุมัติงบกลาง 2564 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นค่าใช้จ่าย ค่าจ้างล่วงเวลาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ก็ใช้งบประมาณมากถึง 12,600 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าความต้องการใช้วงเงินงบประมาณด้านสาธารสุขยังคงมีมากในสถานการณ์ช่วงนี้