รัฐบาลรับมืออย่างไร? กับเศรษฐกิจถดถอย
การจัดหาวัคซีน การจัดหายารักษาโรค การจัดหาชุดตรวจเชื้อ และวางแผนสำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องรีบคิดและตัดสินใจถ้าไม่ต้องการเห็นประเทศถอยหลังไปมากกว่านี้
ไม่น่าแปลกใจที่หลายองค์กรทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นผู้ประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ปรับประมาณการจีดีพีเหลือ 0.7-1.2% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ 1.5-2.5% ซึ่งปรับประมาณการตัวชี้วัดลงเกือบทุกรายการยกเว้นการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าขยายตัว 4.7% และการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวถึง 16.3% ตามความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น
ถึงแม้ว่าการส่งออกจะมีโอกาสขยายตัวมาก แต่ก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไขการควบคุมการระบาดไม่ให้เข้าสู่โรงงาน เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตเพื่อการส่งออกที่แทบจะเป็นเครื่องจักรเดียวในการผลักดันเศรษฐกิจไทยปี 2564 ในขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2564 พบคลัสเตอร์ในโรงงานรวม 17 แห่ง ในโรงงานเซรามิก ผลิตภัณฑ์กระดาษ อาหารสัตว์ อาหารทะเล ระบบไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อาหาร ในจำนวนดังกล่าวเป็นคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง แสดงให้เห็นว่าการระบาดในโรงงานมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
กรณีดังกล่าวประเมินได้ว่าการส่งออกที่หลายฝ่ายคาดหวังให้เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก็ยังตั้งอยู่บนความเสี่ยง ซึ่งไม่ได้มีความเสี่ยงเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 จนเกิดเป็นคลัสเตอร์โรงงาน แต่ยังไม่ความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้เต็มที่ ในขณะที่การระบาดในโรงงานทำให้ผู้ประกอบการต้องนำมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล มาใช้เพื่อบริหารจัดให้ให้การผลิตไม่สะดุด
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จึงถือว่าสาหัสมาก เพราะตัวแปรหลัก คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกปัจจุบันที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง และถ้าการระบาดระลอกนี้ไม่สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาสที่ 3 จะทำให้การฟื้นตัวต้องใช้เวลานานขึ้น จนอาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในอีกหลายด้าน เพราะขณะนี้หลายประเทศทำงานคู่ขนานระหว่างการควบคุมการระบาดกับการเตรียมแผนการฟื้นฟูประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยแทบจะไม่มีเวลาพูดถึงการฟื้นฟู
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงมีข้อมูลครบทุกด้านภายในมืออยู่แล้ว แต่ขึ้นกับรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการจัดหาวัคซีน การจัดหายารักษาโรค การจัดหาชุดตรวจเชื้อ รวมถึงการวางแผนสำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ และที่สำคัญการวางแผนสำหรับการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งมีข้อเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องรีบคิดและตัดสินใจถ้าไม่ต้องการเห็นประเทศถอยหลังไปมากกว่านี้