จาก 'ม็อบ Chaos' ถึง 'เด็กแว้น'

จาก 'ม็อบ Chaos' ถึง 'เด็กแว้น'

ทำความเข้าใจ "ม็อบ Chaos" ผลพวงจากสมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นำไปสู่กระแส ม็อบขาบวก หรือ "เด็กแว้น" ผู้ที่มีความเจ็บปวดคับแค้นที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และโควิด เป็นอาวุธ

สมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดงไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง, กลุ่มทะลุฟ้า และ ณัฐวุฒิ-บก.ลายจุด นัดหมายชุมนุมไล่ประยุทธ์ ที่ใดก็ตาม พลันที่มีการสั่งการ “ยุติการชุมนุม” ก็จะเกิดการปะทะกันระหว่าง “วัยรุ่น” กับตำรวจ คฝ. ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และถนนประชาสงเคราะห์

สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวัน จนชาวแฟลตดินแดงกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากควันแก๊สน้ำตา มินับเสียงปืน เสียงระเบิด ทั้งจากพลุ ประทัด และกระสุนยาง
นับแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 เป็นต้นมา ภาพรวมการชุมนุมทางการเมือง มี 2 รูปแบบคือ “คาร์ม็อบ” กับ “ม็อบไร้แกนนำ” ที่นัดหมายผ่านโซเชียลเหมือนปีที่แล้ว แต่เพิ่มความถี่ โดยมีการนัดชุมนุมแทบจะทุกวัน

ม็อบ Chaos

ปรากฏการณ์ “ม็อบสันติ” จบแล้ว ก็เปิดฉาก “ม็อบสายบวก-สายปะทะ” นักข่าวอาวุโสที่ผันตัวเองเป็นพิธีกรรายการทอล์คการเมืองทางช่องวอยซ์ทีวี ให้คำจำกัดความว่า “ม็อบ Chaos

“ใบตองแห้ง” ได้อธิบายความเรื่องนี้ทางเฟซบุ๊ค Atukkit Sawangsuk ว่า “ม็อบสันติกับม็อบ Chaos เดินไปคู่ขนานกัน เห็นจะไม่มีทางปฏิเสธได้”
ม็อบ Chaos เป็นศูนย์รวม”ขาบวก” สายปะทะ เป็นการ "บวก" โดยสมัครใจ ชวนกันไปแบบไม่มีแกนนำ ไม่มีเบื้องหลังอะไรทั้งสิ้น ห้ามก็ไม่ได้

“เป็นความโกรธอัดอั้นที่ถูกกระทำ เป็นความไม่พอใจสั่งสมต่อรัฐ และการใช้อำนาจของตำรวจ ยิ่งไปกว่านั้นมันเป็นเพราะระบอบประยุทธ์ สร้างทางตัน ไม่สามารถไล่ได้โดยสันติ แรงแค้นแรงกดดันจึงปะทุ”

นักวิชาการคนเดือนตุลาอย่าง เกษียร เตชะพีระ ก็เห็นด้วยกับ “ใบตองแห้ง” จึงเสนอความเห็นเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊ค Kasian Tejapira ว่า “ผู้คนมีความเจ็บปวดคับแค้นที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาโควิดและเศรษฐกิจให้ได้ อีกทั้งยังบริหารไปในทางที่ไม่โปร่งใสเป็นธรรม เกินกว่าที่พวกเขาจะรับได้..”
ด้วยเหตุนี้ “สภาพม็อบ Chaos คู่ขนานกับม็อบสันติย่อมเกิดขึ้นอย่างเหลือวิสัยที่จะหยุดยั้งห้ามปรามได้โดยฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมหรือผู้หวังดี”

ลอยแพ “ขาบวก”

นักข่าวภาคสนามหลายคน ประเมินว่า บรรดา “ขาบวก” ที่สามเหลี่ยมดินแดง ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน อายุ 14-15 ปี พวกเขาจะมาพร้อมมอเตอร์ไซค์คู่ใจ หรือที่เรียกว่า “เด็กแว้น

ตอนแรก “ขาบวก” ที่หน้าตู้คอนเทนเนอร์สามเหลี่ยมดินแดง จะมี “อาชีวะ” ร่วมด้วย แต่พักหลัง ขาใหญ่อาชีวะถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคง จึงหลบไปอยู่หลัง “เด็กแว้น” บางกลุ่มทำหน้าที่พี่เลี้ยง

พฤติกรรม “ขาบวก” ที่ท้าชน คฝ.รายวัน ทำให้แกนนำม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่หลายคน เสนอให้ “ขาบวก” แยกไปทำม็อบต่างหาก ไม่ควรเข้ามารวมอยู่ในขบวนการประท้วงต่างๆ

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ถ้าผลักพวกเขาออกจากขบวน บอกให้เขาจัดม็อบต่างหาก นั่นหมายถึงการออก "ใบอนุญาตฆ่า" ให้รัฐบาลทางอ้อม

เด็กแว้นมาจากไหน

ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสประจำข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้ใช้เฟซบุ๊คส่วนตัวPravit Rojanaphruk เรียกขาบวก สายปะทะว่า “ม็อบเด็กแว้น” พร้อมอธิบายถึงที่มาของเด็กเหล่านี้

1.พวกเขาคือชนชั้นแรงงาน พ่อแม่ญาติพี่น้องได้รับผลกระทบหนักสุดจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยล้มทั้งยืน เนื่องจากการบริหารจัดการโควิดที่ล้มเหลวของรัฐบาล

2.พวกเขาไม่ขึ้นกับแกนนำใด พวกเขาไม่ต้องการแกนนำ กลุ่มไหนนัดชุมนุม พวกเขาก็ไปร่วม และพร้อมที่จะแยกตัวออกมาลุยต่อ

3.ภาษาการต่อสู้ของพวกเขาคือ การเผชิญหน้าปะทะกับ คฝ. และความโกรธเกลียดที่ต้องมีอนาคตมืดมน พวเขามีอายุส่วนใหญ่ยังไม่ถึง 20 ปี

“นิยามสันติวิธีของปัญญาชนชนชั้นกลางใช้ไม่ได้กับพวกเขา การออกมาชุมนุม เป็นการปลดปล่อย พวกเขารู้สึกมีพลังและมีค่าเวลามารวมตัวกัน แถมปนสนุกสะใจ”

แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงได้สรุปลักษณะของ “ม็อบเด็กแว้น” ไม่ต่างประวิตร พวกเขาเหล่านี้คือ “กลุ่มคนจนเมือง” ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด บวกกับ “เด็กแว้น” ส่วนใหญ่ มักจะเป็นปฏิปักษ์กับตำรวจ จึงนัดหมายกันไป “บวก” กับ คฝ.ที่ดินแดง

ด้านหนึ่งพฤติกรรม “เด็กแว้น” อาจส่งผลลบต่อม็อบสันติ สังเกตได้จาก “จำนวน” ผู้ที่เคยลงถนนเมื่อปีที่แล้ว นัดละหลายพันคน จนถึงหลักหมื่น มาถึงปีนี้ กลับมีแค่หลักพัน บางม็อบหลักร้อย เพราะหวั่นกลัวอันตรายจากเหตุ “ขาบวก” ปะทะ คฝ.

นักเขียนนักแปลคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ รู้สึกเป็นกังวลต่อ “เด็กแว้น” เกรงพวกเขาจะตกเป็นเหยื่อการปราบปรามอย่างรุนแรง จึงตั้งคำถามต่อผู้ร่วมอุดมการณ์

“สายบวกเหล่านี้ล้วนเป็นเด็กอายุน้อย การที่พวกเขาต่อสู้ไม่อาลัยชีวิตเพราะเขามองไม่เห็นอนาคตแล้ว เราจะทิ้งเขาลงคอหรือ? เราเคยพูดไม่ใช่หรือว่า พวกเราคนรุ่นก่อนทำผิดที่ทิ้งภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง?”