การเมือง
'ฝ่ายค้าน' ชี้ มีไขมันซ่อนใน 'งบฯ65' อื้อ - 'อาคม' ยันปรับลด ตามกรอบกฎหมาย
สภาฯ พิจารณา ม.4 อย่างยาวนาน และเข้มข้น โดย กมธ.งบฯฝ่ายค้าน ชี้ งบฯ65 ส่อทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หลังไม่จัดงบ 3พรรครัฐบาลหาเสียง ด้าน "พิธา" เชื่อมี3 ก้อนไขมันซ่อนในอีกหมื่นล้าน จี้จัดโครงสร้างราชการ ลดหน่วยงานที่ภารกิจซ้ำซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาฯ วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระสอง วันแรก มีความเข้มข้นในเนื้อหาของการอภิปราย โดยในมาตรา 4 งบประมาณรายจ่ายฯ 3.1ล้านล้านบาท ที่ขอให้ปรับลดหลักแสนล้านบาท เนื่องจากพบการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ รวมถึงพบการจัดงบประมาณที่ไม่เหมาะสมกับสภาพและเหตุการณ์ของบ้านเมือง
โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ฐานะกมธ.ฯเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า งบประมาณปี 2565 ที่ปรับลดเมื่อเทียบกับปี 2564 และ ปี 2563 พบว่างบที่ลดคือ งบดำเนินงาน และงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน รวมถึงไม่มีโครงการที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้กับประชาชน ตนขอปรับลด 4% หรือ 1.2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลจัดงบเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ซื้ออาวุธ เครื่องบิน หรือส่ิงที่ไม่จำเป็น
“งบประมาณรอบนี้ คือโอกาสสุดท้ายที่จะปรับเปลี่ยนงบเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้พรรคซีกรัฐบาลนำไปใช้สำหรับนโยบายที่หาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน ที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ตั้งไว้ เพราะหากไม่ดำเนินการ คาดว่าจะมีผู้ยื่นว่าพรรคร่วมรัฐบาลทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และนำไปสู่ศาลฏีกา” นายวรวัจน์ อภิปราย
นายวรวัจน์ อภิปรายด้วยว่า การลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ ถือว่ายากลำบากและเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเพราะไม่มีงบประมาณที่ใช้เพื่อดำเนินนโยบายของพรรคการเมือง เช่น พรรคพลังประชารัฐ ต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 - 425 บาทต่อวัน, เงินเดือนปริญญาตรี 2หมื่นบาท, อาชีวะ 1.8 หมื่นบาท, พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4ปี, ตั้งกองทุนหมู่บ้านพลังประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท , พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศนโยบาย เด็กแรกเกิดรับ 5,000 บาท เดือนต่อไปจนถึง 8 ปี เดือนละ 1,000 บาท, เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท, พรรคภูมิใจไทย ต่อค่าแรง อสม. 800 -1,000 บาท เป็นต้น
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายให้ปรับลดเพิ่มเติม เพราะพบว่ามีงบเพื่อจัดสัมมนา กว่า 1.7หมื่นล้านบาท หรือ ตั้งผูกพันข้ามปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 65 พบการตั้งงบผูกพัน กว่า 9 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และ รัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่เป็นธรรมกับประชาชน
ทางด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะกมธ.ฯ อภิปรายให้ปรับลดงบประมาณ 1แสนล้านบาท เพราะยังพบกลุ่มงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤต แบ่งเป็น 3 กลุ่มไขมัน คือ ไขมันความมั่นคง ที่พบว่ามีงบจัดซื้ออาวุธในกระทรวงกลาโหม หรืองบซื้อปืนตำรวจ, ไขมันกลุ่มก่อสร้าง เป็นงบก่อสร้าง บ้านพัก, สร้าอาคาร แม้งบปี 2565 จะถูกตัด 1,000 ล้านบาท จากเงินทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับงบสวัสดิการประชาชน เช่น งบประกันสังคม ตัด 1.9 หมื่นล้านบาท, งบสวัสดิการประชาชน ตัด 2หมื่นล้านบาท และ ไขมันที่เป็นงบพิรุธ การจัดซื้อในมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาด ตนเชื่อว่าหากตัดได้อีก จะประหยัดความฟุ่มเฟือยของประเทศได้อีกหลายหมื่นล้านบาท
“ทางเลือกระยะยาวสำหรับการประหยัดงบประมาณ ต้องปรับโครงสร้างรัฐราชการไทย จัดกระดูกใหม่ โดยเฉพาะหน่วยงนที่เป็นต้นเหตุ งบซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจน เช่น กลาโหม มีหน่วยงานด้านกฎหมาย เช่น กรมพระธรมนูญสำนักงานพระธรรมนูญทหาร กระทรวงคมนาคม มีกรมท่าอากาศยาน และ การท่าอากาศยาน , มีกรมทางหลวง และ กรมทางหลวงพิเศษ เป็นต้น ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวมีบทบาทเหมือนกัน” นายพิธา อภิปราย
ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ควรปรับโครงสร้างงบประมาณให้ตอบสนองวิกฤติคือ อาทิค่าใช้จ่ายบุคลากร เงินเดือนข้าราชการ คิดเป็น 40%ของงบประมาณทั้งหมด เพิ่มขึ้นทุกปี คงเพิ่มต่อเนื่องในปีงบประมาณ 66และ67 แต่การจัดเก็บรายได้น้อยกว่าที่ตั้งไว้ อีกไม่นานสำนักงบประมาณจะปรับลดเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ หากไม่รื้อโครงสร้างงบประมาณใหม่ ส่วนการกระจายอำนาจ ที่ผ่านมาส่วนกลางหวงอำนาจ ไม่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ โครงการแก้มลิง100กว่าโครงการของกรมชลประทาน การตัดถนนทางหลวงชนบทของกรมทางหลวงชนบท หรือกระทั่งการเก็บผักตบชวาที่หน่วยงานส่วนกลางไม่ยอมปล่อยมือให้ท้องถิ่นทำ แต่คงไว้ให้กรมต่างๆ 6กรม ทำงานเก็บผักตบชวา เพราะมีงบต้องเก็บทุกปี
จากนั้นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ฐานะประธานกมธ.ชี้แจงยืนยันต่อการปรับลดงบประมาณ ว่าเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือ หนี้สาธารณะ ทั้งนี้การจัดงบในวงเงินดังกล่าวเมื่อชะลดหรือปรับลด กมธ.ฯ เน้นการแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
“เรื่องหนี้สาธารณะต้องปรับแผนการก่อหนี้ ในแผนที่ผ่านมา โครงการหรือแผนงานที่เสนอมีปัญหาความพร้อม หรือพร้อมแต่มีปัญหาการปฏิบัติ กระทรวงการคลังที่ผมให้นโยบาย คือ ทบทวนโครงการลงทุนต่างๆ ที่ขอใช้เงินกู้ ต้องเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล , ประเด็นของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการที่เสนอต้องเข้มงวด ไม่ใช่แค่จองช่ือไว้ นอกจากนั้นโครงการที่บรรจุแต่ล่าช้า การเบิกจ่ายต้องพิจารณากู้เท่าที่จำเป็น” นายอาคม ชี้แจง
รมว.คลัง ชี้แจงด้วยว่า การกู้เงินที่ได้รับอนุมัติ ต้องทยอยและพิจารณาตลาดพันธบัตรสภาพคล่องภายในประเทศ เพื่อไม่ให้รัฐบาลแย่งเงินของเอกชน การกู้เงินต้องพิจารณาแหล่งเงินกู้ ที่ผ่านมา 98% กู้ภายในประเทศ หากต้องการให้เอกชนลงทุนอาจกระทบสภาพคล่องภายในประเทศ ทำให้ต้องพิจารณาใช้เงินกู้ต่างประเทศ กรณีการสั่งซื้ออุปกรณ์เงินตราต่างประเทศ ขณะนี้ดอกเบี้ยจ่ายของเรามีภาระต่ำให้มีขีดความสามารถกู้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่กมธ. และส.ส. อภิปรายครบถ้วนแล้ว ได้ลงมติ โดยเสียงข้างมาก 224 เสียงเห็นด้วยกับกมธ.ฯ ต่อ 40 เสียง งดออกเสียง 38 เสียง.