กลุ่มฉีด ‘ชิโนแวค’ 2 เข็ม เตรียมเฮ! สธ.จ่อประกาศ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทั่วไป สัปดาห์หน้า
สธ. เตรียมประกาศฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับ "ซิโนแวค" ครบ 2 เข็ม จำนวน 3.4 ล้านคน โดยนัดพิจารณาสัปดาห์หน้า
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบคำถาม ระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึงกรณี คนที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อไหร่ โดยระบุว่า การให้วัคซีนเป็นเข็มกระตุ้นในประเทศไทย เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงมากที่สุด จากการปฏิบัติงานทุกวัน มีโอกาสได้รับเชื้อ จึงต้องป้องกันกลุ่มนี้ก่อน
ส่วนกลุ่มอื่นที่ได้รับวัคซีน Sinovac 2 เข็มแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า จะมีข้อเสนอออกมาสัปดาห์หน้าว่า มีความจำเป็นต้องให้กลุ่มอื่น ๆ ด้วย แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก็ตาม เช่น หลังฉีด Sinovac 2 เข็มไปแล้วนานเท่าไร จึงจะฉีดเข็ม 3 ได้
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลทางวิชาการออกมาเพิ่มขึ้นว่า ทุกชนิดของวัคซีน เมื่อฉีดไปสักระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง แต่กลุ่มที่ฉีดเร็ว โดยฉีดก่อนตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งขณะนี้สิงหาคม ผ่านไปแล้วประมาณ 5 เดือน ก็จะต้องมีโอกาสได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็มักจะเป็นวัคซีนต่างชนิดจาก 2 เข็มแรก
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งถ้าได้ผลสรุปอย่างไร ก็จะนำมาแจ้งให้ทราบ แต่แนวโน้มคือ ผู้ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มไปแล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ จากการแถลงข่าววานนี้ (20 ส.ค.) โดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศิริราชพยาบาล ซึ่งศึกษาประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตา พบว่าการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด “ซิโนแวค – แอสตร้าเซนเนก้า” ภูมิคุ้มกันสูงกว่าซิโนแวค 2 เข็ม 3 เท่า และสูงกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเล็กน้อย ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันจำเพาะต่อไวรัสเดลตา สูงกว่ากระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม 4 เท่า และสูงกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบสลับชนิดและการกระตุ้นเข็มที่ 3
ศ.พญ.กุลกัญญา เปิดเผยว่า โรคโควิด 19 สายพันธุ์เดลตาดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ประเทศไทยจึงหาแนวทางการฉีดวัคซีนที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น โดยการฉีดสลับชนิดและฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาก่อนหน้านี้ จึงได้ทำการวิจัย 2 โครงการ คือ
1.การฉีดสลับหรือฉีดไขว้ในคนแข็งแรงทั่วไป และวัดระดับภูมิต้านทานชนิด IgG พบว่า การฉีดด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า (SA) ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 24 หน่วย BAU/mL เป็น 1,354 หน่วย แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยซิโนแวค (AS) ภูมิคุ้มกันขึ้นเล็กน้อย จาก 147 หน่วย เป็น 222.47 หน่วย ซึ่งการฉีดสลับด้วยซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ได้ผลดีกว่าการฉีดแบบไม่สลับ คือ ซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และสูงกว่าภูมิคุ้มกันของผู้หายป่วยของการระบาดในช่วงปลายปี 2563 แต่ยังต่ำกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มซึ่งภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 1,900 หน่วย
2.การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ซึ่งป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ลดลง พบว่าเมื่อกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 52 หน่วย เป็น 1,558 หน่วย ซึ่งได้ผลภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดกระตุ้นด้วยซิโนฟาร์ม ซึ่งเพิ่มจาก 44 หน่วย เป็น 218 หน่วย
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วัดภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตา ใช้วิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT50) โดยนำเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนมาดูการยับยั้งไวรัสเดลตาที่มีชีวิตในหลอดทดลอง พบว่า ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม แล้วมาฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มที่ 3 ได้ภูมิคุ้มกันต่อเดลตาสูงมากถึง 271 หน่วย ใกล้เคียงกับคนที่เพิ่งหายป่วยจากเชื้อเดลตาหรืออัลฟ่า และสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ที่ได้ภูมิคุ้มกัน PRNT ที่ 155 หน่วย คือ สูงกว่า 1.7 เท่า
ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวต่อว่า สรุปได้ว่า การฉีดซิโนแวคแล้วตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม 2 หรือกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หลังได้ซิโนแวค 2 เข็ม จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมากทั้งคู่ จะทำให้ป้องกันเชื้อเดลตาได้ดี สำหรับการฉีดซิโนแวคตามด้วยไฟเซอร์ หรือการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ กำลังทำการศึกษา คาดว่าจะทราบผลใน 2-3 สัปดาห์นี้