‘วิรไท-วิศิษฏ์-กิติพงศ์’ จี้ไทยปฏิรูปกฎหมายครั้งใหญ่ ช่วยธุรกิจ-ลูกหนี้
"วิรไท" ชี้ 6 ข้อการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 แนะทุกฝ่ายเห็นความสำคัญการปฏิรูปกฎหมาย "วิศิษฏ์" เผยกระทรวงยุติธรรมจับมือคณะทำงานอยู่ระหว่างเสนอแก้กฎหมาย คาดเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ "กิติพงศ์" หวั่นกระบวนการในสภาล่าช้า แนะนำทำ "Omnibus Law"
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการเสวนา THAILAND After Covid-19: "เศรษฐกิจไทยจะไม่เหมือนเดิม" จัดโดยคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำที่มาขึ้น สะท้อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบตัว K (K-shaped Recovery) ซึ่งธุรกิจจำนวนมากอยู่ใน K ขาลง และการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับสู่ต่างจังหวัด
2. รูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวที่ต้องพบปะกันแบบเห็นหน้า (Face-to-Face) ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง โดยคาดว่าการจัดกลุ่มเดินทางจำนวนมากจะหายไป และเปลี่ยนเป็นกลุ่มเดินทางขนาดเล็กแทน ซึ่งจะส่งผลให้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเทียบเท่าในอดีต 40 ล้านคน จะยังไม่กลับมาใน 3-5 ปีต่อจากนี้ ส่วนธุรกิจบริการอย่างโรงภาพยนตร์ หรือร้านอาหาร จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพิ่มขึ้น
3. ความเสี่ยงจากความผันผวนรูปแบบใหม่ ดังนั้น ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ แต่จะต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 2 เรื่อง เพราะหากทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ท้ายสุดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงความผันผวนด้านภูมิอากาศที่ประเทศไทยยังมีการกล่าวถึงน้อย และภูมิคุ้มกันทางการเงิน
4. การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยี แม้ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น แต่การแพร่ระบาดของไวรัสเปรียบเสมือนปุ่มเร่งให้กระบวนการทำงานต่างๆ ต้องเป็นดิจิทัลมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากไม่ดูแลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างกรณีต่างประเทศที่ธุรกิจขนาดเล็กและผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีโดนเอาเปรียบ รวมถึงประเด็นภัยไซเบอร์
5. การจัดการกำลังการผลิตส่วนเกิน ไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างเศรษฐฏิจ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนานกว่า 1 ปีครึ่ง และคาดว่าจะกระทบรายได้ธุรกิจต่อไปอีกราว 2-3 ปี ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง และการปรับโครงสร้างธุริจเดิมเพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปสนับสนุนเศรษฐกิจในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยจะต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมาย แรงจูงใจในการปรับตัว รวมถึงความต้องการของตลาด ฯลฯ เข้ามาช่วยสนับสนุน
และ 6. ความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อบทบาทหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งภาครัฐต้องทำงานเพิ่มขึ้นและเก่งขึ้นกว่าเดิมมาก ท่ามกลางรายได้ที่ลดลง รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าบางเรื่องภาคเอกชนทำได้ดีกว่า
นายวิรไท กล่าวว่า กฎหมายเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สามารถช่วยเหลือประชาชน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กฎหมายบางอย่างล้าสมัยและต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพราะออกมานานมากแล้วจึงไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ในการนี้มีหลายคณะที่ทำงานเพื่อปฏิรูปกฎหมายแต่ไม่ค่อยเกิดประสิทธิผลเท่าไหร่นัก ดังนั้น มองว่าทางออกคือทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ ทั้งหน่วยงานราชการ คณะกรรมการเฉพาะกิจ สภา คณะรัฐมนตรี คณะรัฐบาล รวมถึงประชาชนที่จะต้องช่วยกันผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แม้กฎหมายจะไม่ใช่เครื่องมือช่วยแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ แต่ต้องยอมรับว่ากฎหมายสามารถช่วยลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา และลดความแข็งกระด้างในการดำเนินงานลง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การขาดแคลนยาบางประเทศ หรือหนี้เสียที่สูงขึ้นอย่างมาก ฯลฯ ส่งผลให้กฎหมายบางข้ออาจไม่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน จึงเห็นว่ากฎหมายบางอย่างควรจะต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง เช่น กฎหมายฟื้นฟูกิจการ กฎหมายการบังคับคดี หรือกฎหมายการค้า เป็นต้น โดยปัจจุบันกระรวงยุติธรรมและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายฯ กำลังทำงานร่วมกัน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า การแก้กฎหมายควรทำในลักษณะที่เรียกว่า "Omnibus Law" หมายถึงการแก้ไขกฎหมายหลายสิบฉบับในครั้งเดียว ซึ่งมีตัวอย่างมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะมองว่าการแก้ข้อกฎหมายทีละส่วนผ่านสภาจะใช้ระยะเวลาที่ยาวกว่า ดังนั้น ควรออกกฎหมายครั้งเดียวเพื่อแก้ปัญหาทุกจุด