รัฐบาลอย่าลืม แผนฟื้นฟูประเทศ
ส่วนไทยแน่นอนว่าลำดับความสำคัญปัจจุบันอยู่ที่การควบคุมระบาด แต่ระหว่างทางต้องทำงานคู่ขนาน โดยต้องวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มากกว่าการใช้งบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จัดสรรเพื่อการฟื้นฟู 170,000 ล้านบาท
การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 1 ล้านคน มาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยเมื่อรวมจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 1.06 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อลำดับที่ 33 ของโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 9,562 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.90% ในรอบครึ่งปีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 3 ทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นจากอันดับ 140 ของโลก ขึ้นมาอยู่ในอันดับปัจจุบัน
หลายประเทศได้แก้สถานการณ์การระบาดจนดีขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่เปิดให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรมได้ตามปกติ โดยเฉพาะกิจกรรมทางกีฬาที่หลายประเทศในยุโรปเปิดให้ประชาชนเข้ามาดูการแข่งขันแบบเต็มสนามได้ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสะท้อนมาถึงการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.2564 ที่ขยายตัวถึง 20.7% และส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดยุโรปที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
หันมาดูในเอเชียบางประเทศที่เคยเจอปัญหาการระบาดที่รุนแรงได้ควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้น โดยอินเดียที่พบการระบาดรุนแรงในช่วงเดือน พ.ค.2564 แต่ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ให้ดีขึ้นแม้ว่าจะมีความกังวลต่อการระบาดในช่วงไตรมาส 4 ที่อาจเหมือนปี 2563 ขณะที่จีนควบคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดีมาระยะหนึ่งแล้ว และถึงแม้จะมีบางเมืองที่พบการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ แต่ก็อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ผ่านจุดที่ยากลำบากมาได้
ในขณะที่ประเทศเริ่มมีการกล่าวถึงจุดสูงสุดของการระบาดระลอกปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ประเด็นที่วางใจได้เพราะภาพการถึงจุดพีคยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะมีสายพันธุ์ที่มีอาการติดเชื้อที่รุนแรงกว่านี้อีกหรือไม่ รวมทั้งประเทศไทยยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ถึงจุดที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งจะต้องฉีดให้ถึงระดับ 70% แต่อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศไทยถึงวันที่ 21 ส.ค.2564 อยู่ที่ 26.8 ล้านโดส และมีผู้ฉีดครบ 2 เข็มเพียง 6 ล้านคน
ระหว่างที่หลายประเทศเจอภาวะวิกฤติแต่ได้เตรียมฟื้นฟูประเทศ โดยสิงคโปร์จะฟื้นฟูหลายด้านเพื่อดึงเงินเข้าประเทศหลังวิกฤติ เช่น อุตสาหกรรมไมซ์ ขณะที่เกาหลีใต้หวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาในเดือน ก.ย.นี้ เมื่อฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 70% ส่วนไทยแน่นอนว่าลำดับความสำคัญปัจจุบันอยู่ที่การควบคุมระบาด แต่ระหว่างทางต้องทำงานคู่ขนาน โดยต้องวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มากกว่าการใช้งบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จัดสรรเพื่อการฟื้นฟู 170,000 ล้านบาท