‘นกแอร์’ พลิกโฉมสู่ ‘พรีเมียมแอร์ไลน์’ ลุ้นศาลฯพิจารณาแผนฟื้นฟู 26 ส.ค.

‘นกแอร์’ พลิกโฉมสู่ ‘พรีเมียมแอร์ไลน์’  ลุ้นศาลฯพิจารณาแผนฟื้นฟู 26 ส.ค.

“แผนฟื้นฟูกิจการ” ของสายการบิน “นกแอร์” ได้ผ่านจุดสำคัญของกระบวนการดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้สายการบินกลับมาให้บริการได้อย่างมั่นคง!

หลังจากได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้มีการประชุมเจ้าหนี้ไปเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ จากเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกัน 76.72% ของจำนวนหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดจำนวนเงิน 5,153 ล้านบาท

วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมีมติยอมรับในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งของนกแอร์ โดย “ศาลล้มละลายกลาง” ได้กำหนดนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันพรุ่งนี้ (26 ส.ค.)

สำหรับประเด็นการทำแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปีที่ได้นำเสนอต่อเจ้าหนี้ มีดังนี้ 1.จะมีการขอวงเงินกู้ฉุกเฉินต่อผู้ถือหุ้น สถาบันการเงิน รวมถึงนักลงทุนต่างๆ หากบริษัทฯมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ 2.จะมีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆ รวมเป็นจำนวน 5,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี

“ส่วนเหตุผลที่นกแอร์ไม่เพิ่มทุนภายในปีนี้ เป็นเพราะยังมีวงเงินกู้ของผู้ถือหุ้นประมาณ 3,000 ล้านบาทที่ได้รับมา และมีการกู้ยืมเงินไปทั้งหมด 2,700 ล้านบาท ตอนนี้ยังใช้ไม่หมด ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพียงพอภายในปีนี้หรือต้นปี 2565”

3.จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินเฉลี่ยปีละ 2 ลำ เป็นเครื่องบิน B737-800 ความจุ 189 ที่นั่งหรือเทียบเท่า 4.มีแผนทำการบินสนับสนุนเมืองรอง โดยเฉพาะเบตง รวมถึงสนามบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเครื่องบินที่มีขนาดเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่าง Q400 ความจุ 86 ที่นั่ง ซึ่งมีความเร็วสูงเมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่นใกล้เคียงกัน มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และยังสะดวกสบายในการเดินทางจากความเงียบภายในห้องโดยสาร

5.ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จากสายการบินต้นทุนต่ำหรือ “โลว์คอสต์แอร์ไลน์” ก้าวสู่การเป็น “พรีเมียม แอร์ไลน์” ภายในปลายปีนี้! โดยใช้จุดแข็งเรื่องที่นั่งและที่วางขากว้าง มีบริการต่างๆ มากกว่าสายการบินทั่วไป เพื่อเป็นตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายความต้องการ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร เช่น บริการต่อรถ ต่อเรือ ไปยังจังหวัด อำเภอ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

และ 6.สร้างพันธมิตรด้านการบินเพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขึ้น ทั้งกับสายการบินภายในประเทศและสายการบินจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการขายบัตรโดยสารรวมถึงมีทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้โดยสาร

นอกจากนี้ยังได้จับมือกับพันธมิตรอื่นๆ เช่น สตาร์บัคส์ เตรียมให้บริการเครื่องดื่มบนเที่ยวบิน และบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) อย่างบุ๊กกิ้งดอทคอม และอโกด้า เพื่อให้บริการขายตั๋วบินของนกแอร์พ่วงกับโรงแรม

162981436029

ด้านการเปิดฐานการบินใหม่ที่สนามบิน “อู่ตะเภา” จ.ระยอง เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางบิน 4 ภาค ให้บริการ 9 เส้นทางบิน รองรับความจำเป็นในการเดินทาง แม้ล่าสุด จ.ระยอง จะถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เหมือนกรุงเทพฯ แต่ทางนกแอร์ได้ขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ผ่อนปรนให้นกแอร์ทำการบินเข้าออกสนามบินอู่ตะเภาต่อไปได้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

“ปัจจุบันนกแอร์ยังคงให้บริการเส้นทางบินจากอู่ตะเภา และครบ 1 เดือนพอดี ทำการบินแล้วกว่า 150 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารใช้บริการ 4,000 คน หรือราว 30 คนต่อเที่ยวบิน แม้จะไม่ได้สร้างกำไรแก่สายการบิน แต่นกแอร์มองว่าเป็นหน้าที่ของสายการบินคนไทยในการช่วยเหลือคนไทยช่วงภาวะวิกฤติแบบนี้ โดยจะให้บริการไปเรื่อยๆ จนกว่า กพท.จะมีคำสั่งคลายล็อกให้สายการบินสามารถทำการบินเส้นทางในประเทศเข้าออกพื้นที่สีแดงเข้มได้ ทำให้เรากลับไปทำการบินที่สนามบินดอนเมืองได้อีกครั้ง”

ส่วนแผนการขยายฝูงบินของนกแอร์ จะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่มอีกจำนวน 6 ลำภายในปีนี้ ทำให้สิ้นปีนี้นกแอร์จะมีฝูงบินรวม 28 ลำ นำมาทำการบินรองรับตลาดเที่ยวบินภายในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวช่วงไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้ หลังสายการบินคู่แข่งบางรายลดขนาดฝูงบินในช่วงวิกฤติโควิด-19

“สงครามราคาของตลาดเส้นทางบินในประเทศช่วงไตรมาส 4 นี้ยังมีอยู่แน่นอน อาจจะอ่อนแรงลงบ้างเล็กน้อย เพราะธุรกิจสายการบินต่างได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการระบาดของโควิด-19 แม้ผู้โดยสารจะยังโฟกัสเรื่องราคาตั๋วบิน แต่นกแอร์ก็มีบริการตอบโจทย์ตรงนั้นอยู่ ขณะเดียวกันจะมุ่งนำเสนอบริการแบบฟูลเซอร์วิสมากขึ้น ตอกย้ำภาพลักษณ์ที่จะเปลี่ยนสู่การเป็นพรีเมียมแอร์ไลน์”

ธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินนกแอร์ กล่าวเสริมว่า คาดว่านกแอร์จะกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 และสถานการณ์ท่องเที่ยวและการบินน่าจะดีขึ้นเป็นเกือบปกติในช่วงปลายปีหน้า ทำให้รายได้ของนกแอร์ในปีหน้าฟื้นตัวดีกว่าปีนี้หลายเท่าตัว และน่าจะกลับมามีรายได้เท่าปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ในปี 2566

162980654039