‘เรียนออนไลน์’ กับ 7 ปัญหาสุขภาพที่เด็กไทยต้องเจอ แก้ยังไงดี?

‘เรียนออนไลน์’ กับ 7 ปัญหาสุขภาพที่เด็กไทยต้องเจอ แก้ยังไงดี?

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ฯ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม เผยผลสำรวจ "เรียนออนไลน์" ทำเด็กไทยต้องเผชิญกับ 7 ปัญหาด้านสุขภาพ ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลง

เมื่อการ "เรียนออนไลน์" ของเด็กไทย อาจไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างใจหวัง แถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจของเด็กมากกว่าที่คิด โดยมีผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ออกมายืนยันว่า นอกจาก "เด็กยุคโควิด" จะต้องพบเจอกับทั้งปัญหาเรียนไม่ทัน การบ้านเยอะจนทำไม่ทัน และปัญหาการสอบแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลเช่นกันก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปส่องเสียงสะท้อนของเด็กยุคโควิด ว่าต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพด้านไหนบ้าง? แล้วผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในแวดวงการศึกษาจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?

เด็กไทยยุคโควิด มีอาการเนือยนิ่ง 79.0% และเครียดสูง 74.9%

มีผลสำรวจของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผลกระทบสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการ "เรียนออนไลน์" ของเด็ก เป็นประเด็นที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก และเมื่อทำการสำรวจเพิ่มเติม ก็ได้ทราบถึงเสียงสะท้อนจากเด็กๆ ที่เรียนจากที่บ้าน ว่าพวกเขาต้องปรับเวลาชีวิตใหม่หมด ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

โดย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ฯ ชี้ให้เห็นผลสำรวจในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่า 7 อันดับปัญหาทางสุขภาพในช่วงเรียนอยู่ที่บ้านของเด็กๆ ได้แก่

1. ปวดตา ปวดเมื่อย ปวดหลัง เพราะนั่งนาน เนือยนิ่ง 79.0%

2. เครียดและกังวลใจ โดยเฉพาะเด็กที่เตรียมขึ้น ม.1 ม.4 หรือเข้ามหาวิทยาลัย 74.9%

3. การบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้พักผ่อนและนอนน้อยลง 71.6%

4. เบื่อหน่ายไม่อยากเรียน 68.3%

5. มีกิจกรรมทางด้านร่างกาย ออกกำลังกายน้อยลง 58.0%

6. สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ขาดสมาธิ 57.2%

7. รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา 56.0%

163006711871

"เรียนออนไลน์" ทำเด็กไทยออกกำลังกายน้อยลง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้การ "เรียนออนไลน์" ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กไทยก็คือ เด็กออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีข้อมูลจาก ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุว่า ในมิติทางพฤติกรรมสุขภาพของเด็กไทยในยุคโควิดนั้น พบว่าเด็กๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเหมือนเคย รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ กินไม่เป็นเวลา ฯลฯ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยน

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าต้องขยับให้ได้อย่างน้อยวันละ 60 นาที ในภาวะปกติเด็กไทยทำได้ 26% แต่พอมีช่วงโควิด ล็อกดาวน์ สถิติการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ลดลงเหลือประมาณ 17% โดยรวมตัวเลขค่อนข้างน่ากลัว ซึ่งจะส่งผลในระยะยาว ส่วนวิธีปรับพฤติกรรมในเรื่องนี้ ต้องให้ทั้งผู้ปกครองและครูผู้สอนช่วยกันปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับเด็ก เช่น

1. ในมุมของผู้ปกครอง เวลาสอนลูกทำการบ้าน อาจเอาการบ้านมาผนวกกับกิจกรรม พยายามให้เด็กขยับร่างกาย แบ่งเวลาอกกำลังกาย ทำกายบริหารด้วยกัน

2. ในมุมของครู อาจเพิ่มกิจกรรมในระหว่างเรียน ให้เด็กเรียนโดยไม่ต้องนั่งเรียนอย่างเดียว เปลี่ยนรูปแบบการสอน ให้เล่นเกม ให้ลุกนั่ง ขยับ มีช่วงพักเบรกให้เด็กพัก หรือเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

163006724942

แพทย์แนะวิธีลดความเครียดช่วง "เรียนออนไลน์"

ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ให้ความเห็นว่า "เด็กยุคโควิด" เป็นเด็กที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก พวกเขาต้องการความเข้มแข็งทางใจ เรื่องนี้ให้เด็กทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ครูและผู้ปกครองต้องยื่นมือเข้ามา ช่วยให้เขาลดความเครียดลง ให้ความอบอุ่น สื่อสารพูดคุยกับเด็ก ซึ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจได้

ส่วนวิธีแก้ปัญหาสุขภาพของเด็กๆ ในช่วง "เรียนออนไลน์" คุณหมอมีข้อแนะนำว่า นอกจากเครื่องมือในการทำกิจกรรมแล้ว พ่อแม่และครูต้องปฏิสัมพันธ์ต่อเด็กในเชิงบวก เช่น

1. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ในด้านการเรียนรู้และในด้านการดูแลสุขภาพตนเอง

2. พ่อแม่มีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมในบ้าน เพื่อให้ลูกดูแลสุขภาพได้ เช่น มีเชือกกระโดด มีจักรยาน

3. คุณครูต้องสอดแทรกเรื่องสุขภาพในการเรียนการสอน

4. ต้องมีนโยบายการจัดตารางเรียนให้เหมาะสม

5. จัดการระบบสื่อ

ช่วงนี้ถือเป็นเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวของทุกๆ ฝ่าย ทั้งตัวเด็กเองที่ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ คุณครูก็ต้องปรับตัวกับการสอนออนไลน์ และพ่อแม่ก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และจับมือกันก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกันให้ได้

---------------------------

อ้างอิง : 

ipsr.mahidol.ac.th

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล

thaihealth.or.th