'โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน' (Renewable) ถือเป็นธุรกิจที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเข้ามาสม่ำเสมอ และผลิตกระแสเงินสดเข้ามาอย่างยอดเยี่ยม แม้ในยามที่เกิดวิกฤติโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว แต่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพิสูจน์แล้วว่าเป็นธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยสุด ! และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ของ 'ประชัย เลี่ยวไพรัตน์' ที่มีผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิ 4,505.82 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2564 กำไรสุทธิ 1,188 ล้านบาท เติบโต 12% จากไตรมาสก่อน
'ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ในแผนธุรกิจ 3 ปี(2564-2566) บริษัทมีความสนใจเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงขยะทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งในปี 2564 บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแล้วจำนวน 2 แห่ง นั่นคือ 'โรงไฟฟ้าขยะ กับเทศบาลนครนครราชสีมา' กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และ 'องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา' มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์
โดยปัจจุบันความคืบหน้าอยู่ระหว่างการส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามภายในไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะทั้ง 2 แห่ง (โคราช-สงขลา) คาดใช้เงินลงทุนทั้งหมด 4,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน และการออกหุ้นกู้เพิ่มเติม และตามแผนที่วางไว้คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณต้นปี 2566 และมีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท (โครงการละ 400-500 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโครงการดังกล่าวมีความล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ว่าเล็กน้อย จากเดิมคาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ช่วงปลายปี 2565 แต่เนื่องจากตอนนี้การลงพื้นที่ก่อสร้างได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพราะว่าพื้นที่ทั้งจังหวัดนครราชสีมาและสงขลา เป็นเขตพื้นที่สีแดงเข้มที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรง
ทั้งนี้ ยังเหลือโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่บริษัทสนใจเข้าประมูลอีกจำนวน 9 แห่ง กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 89.1 เมกะวัตต์ (กำลังผลิตโครงการละ 9.9 เมกะวัตต์) ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดประมูลอยู่ระหว่างหน่วยงานยืนขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยคาดว่าจะเห็นภาพการเปิดประมูลในแต่ละโครงการในปีหน้า เนื่องจากปีนี้ราชการส่วนใหญ่ต้องทำงานอยู่ที่บ้านเป็นหลักตามมาตรการล็อกดาวน์รัฐจึงอาจจะทำให้กระบวนการข้ออนุญาตต่างๆ เกิดความล่าช้าไปด้วย
สำหรับผลประกอบการปี 2564 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 11,401.14 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตสู่ระดับ 75% จากการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL เพิ่มเติมอีก 10% ซึ่งจะคิดเป็นหน่วยการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีกกว่า 20 ล้านหน่วยต่อไตรมาส
นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังบริษัทยังได้รับผลดีโครงการขาย 'เชื้อเพลิงขยะ' (RDF) เพื่อทดแทนถ่านหินให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของ TPIPL ซึ่งปัจจุบันได้เดินเครื่องและผลิต เพื่อขายให้กับโรงงานปูนซีเมนต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มเดินเครื่องไปในช่วงกลางไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา และคาดว่าในครึ่งปีหลังนี้กำลังการผลิต RDF ดังกล่าวจะทยอยเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเฉลี่ย 350-450 ล้านบาทต่อปี โดยจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ตามแผนการเปลี่ยนเทคโนโลยีของโรงปูนซีเมนต์ของ TPIPL คาดว่าจะเปลี่ยนสายการผลิตโรงปูนซีเมนต์ทั้งหมด 4 สายการผลิต โดยปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จไป 1 สายการผลิตแล้ว และกำลังดำเนินการสายการผลิตที่สองอยู่ คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ให้สายการผลิตโรงงานปูนซีเมนต์แล้วเสร็จทั้งหมดในกลางปี 2565
'ครึ่งปีหลังรายได้เติบโตต่อเนื่องจากครึ่งแรก จากทิศทางการขายไฟฟ้าและการขาย RDF ให้กับโรงงานปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลประกอบการปีนี้รายได้เติบโตตามเป้า 12,000 ล้านบาทแน่นอน'
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานโรงไฟฟ้าขยะจำนวน 180 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนทิ้งจากโรงปูนซีเมนต์ของ TPIPL จำนวน 40 เมกะวัตต์ พลังงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงผสม (ระหว่างถ่านหิน-ขยะ) จำนวน 70 เมกะวัตต์ และพลังงานโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 50 เมกะวัตต์