3 สิ่งต้องมี! ใช้ชีวิต 'คลายล็อกดาวน์' 1 ก.ย.นี้
แม้เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 ศบค.ชุดใหญ่จะเคาะคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. 2564 ให้บางกิจการ/กิจกรรมใน 29 จังหวัดเปิดได้ แต่ในแง่ของการป้องกันควบคุมโรคมีการ “ยกระดับ”เข้มขึ้น ซึ่งมี 3 สิ่งสำคัญที่ทุกส่วนต้องช่วยกัน หากไม่อยากซ้ำรอยระบาดล็อกดาวน์อีก
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
กิจการที่คลายล็อกเปิดได้
1.การเดินทางข้ามจังหวัดจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- ขอย้ำเรื่องการเดินทาง เดินทางได้ แต่ขอให้เดินทางจำเป็นเท่านั้น
- ผู้ป่วยจะกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาขอให้เข้าโครงการภาครัฐ อย่าเดินทางเอง
-ระบบขนส่งสาธารณะจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 75% สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะ
-รถโดยสารหรือรถตู้ระยะไหล ควรแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อระบายอากาศ
2.ร้านอาหาร
-อยู่นอกอาคาร เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ให้นั่งรับประทานได้ 75%
- ร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50%
- ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
- กำกับติดตาม โดยผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.จำแนกดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มกิจการ/กิจกรรมเปิดได้ ร้านเสริมสวยเปิดได้เฉพาะตัดผม เปิดได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และต้องมีการัดคิว ส่วนร้านนวดเป็นได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และต้องนัดหมายล่วงหน้า ขณะที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ก็ให้เปิดได้ตามเงื่อนไขและมาตรการของร้านอาหาร
กลุ่มที่ 2 ที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเสนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และห้องจัดประชุม จัดเลี้ยง
-ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
-กำกับติดตามมาตรฐาน โดยสภาหอการค้าไทย และคณะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
4.ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวด(เฉพาะนวดเท้า) อยู่นอกห้างเปิดได้แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการ
5.การใช้อาคารของสถานศึกษา ยังไม่เปิดเรียน แต่สามารถใช้อาคารได้โดยผ่านความเห็นชอบของผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ในพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร หมายความว่า หากบางแห่งจำเป็นต้องจัดการสอบก็ให้ทำเรื่องขออนุญาตเป็นกรณีไป
6.การเปิดใช้สนามกีฬาและสวนสาธารณะ สามารถเปิดได้แต่ต้องไม่มีผู้ชม โดยแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครให้ทราบก่อน โดยเปิดได้ถึง 20.00 น.
ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค
ในการเปิดกิจการ กิจกรรมตามที่ศบค.กำหนดนั้น จะต้องดำเนินการภายใต้การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด สำหรับเปิดกิจการ/กิจกรรมให้ปลอดภัย และยั่งยืนด้วยหลักการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention โดยมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล Universal Prevention หรือการป้องกันแบบครอบจักรวาล คือการระมัดระวังตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า ขอให้เราคิดเสมอว่า ทุกคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ว่าจะสนิทแค่ไหน อาจเป็นผู้ติดเชื้อแฝงกันทั้งหมด
ส่วนมาตรการองค์กร จะใช้คำว่า COVID-Free Setting ประกอบด้วย 3 ส่วน ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเว้นระยะห่าง จัดระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาดปลอดภัย ดำเนินการทุกพื้นที่
ด้านผู้ประกอบการ/พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือติดเชื้อแล้วพ้นระยะการแพร่เชื้อแล้วโดยอยู่ในช่วงหลังติดเชื้อประมาณ 1-3 เดือนแล้ว หรือต้องมีการตรวจเช็คสามารถตรวจด้วยวิธีมาตรฐานRT-PCR หรือ ชุดตรวจด้วยตนเอง ATK ถ้าเสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน เสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน
และด้านผู้รับบริการ/ลูกค้า ต้องมีบัตรสีเขียว(Green Card)โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และบัตรสีเหลือง(Yellow Card) ผู้ที่ติดเชื้อหายแล้วใน 1-3 เดือน และผลตรวจATKเป็นลบ
10 ข้อปฏิบัติป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล
1.ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็นน้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด
3.เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่
4.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก โดยไม่จำเป็น
6.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/ สิ่งของ ที่ใช้ร่วมกัน
7.ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้างของเครื่องใช้หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ
8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
9.เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
และ10.หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วยATK บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่โดยหากมีความเสี่ยงมากตรวจทุก 3 วัน หากเสี่ยงน้อยตรวจทุก 7 วัน หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
3 สิ่งต้องพกคลายล็อก 1 ก.ย.
ในส่วนของมาตรการ COVID-Free Settingนั้น แม้ระยะเริ่มต้น จะเป็นการนำร่องบางกิจการในพื้นที่กทม.และปริมณฑลก่อนเพื่อเป็นต้นแบบ และยังเป็นแบบขอความร่วมมือ แต่สำหรับในอนาคตเมื่อเลยผ่านระยะการปรับตัวแล้ว จะมีการปรับสู่มาตรการบังคับต่อไป
ดังนั้น สำหรับประชาชนทั่วไปจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะใช้ชีวิตหลังมีการคลายล็อกดาวน์เพื่อจะได้ไม่มีการกลับมาระบาดใหญ่ระลอกใหม่และล็อกดาวน์อีก โดยจะต้องมีความพร้อมใน 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.เข้าใจหลักการการป้องกันตัวเองสูงสุดแบบครอบจักรวาล
2.การมี”บัตรเขียว”หรือกรีนการ์ด(Green Card) ต้องมีทั้งผู้ประกอบกิจการ พนักงาน และประชาชนทั่วไปที่จะใช้บริการกิจการ กิจกรรมต่างๆ โดยบัตรเขียวนี้ คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อาจจะเป็นบัตร หรือดิจิตัลการ์ด แสดงการได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยสามารถได้ใบรับรองฉีดวัคซีน 2 เข็มในระบบหมอพร้อมอยู่แล้ว หรือถ้าไม่มีขอใบรับรองได้เมื่อฉีดครบ 2 เข็มจากหน่วยฉีดวัคซีน
และ3.การมี"บัตรเหลือง"หรือเยลโลการ์ด(Yellow Card) ที่เป็นบัตรชั่วคราว ต้องมีทั้งผู้ประกอบกิจการ พนักงาน และประชาชนทั่วไป ซึ่งแสดงว่าเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อและหายแล้วอยู่ในช่วงมากกว่า 1-3 เดือนสามารถขอใบรับรองแพทย์เป็นการระบุว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว เมื่อพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีน หรือผู้ที่มีการตรวจด้วย ATK เป็นลบ ผู้ประกอบการออกเป็นบัตรเหลืองให้ใช้ได้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
“ทั้งหมดต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของบุคคลในการตรวจรับรองด้วยตนเองในการตรวจATK และทุกคนต้องรับรู้ว่า การที่จะพ้นจากสภาวะแบบนี้ทุกคน ต้องมีวินัยและรับผิดชอบร่วมกัน ที่จะพาประเทศก้าวข้ามภาวะนี้ ก้าวสู่วิถีใหม่ต่อไป และการดำเนินการมาตรการจะต้องมีระบบติดตาม ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องเข้มงวดมาตรการขึ้นมาอีก ทุกคนต้องเข้าใจและร่วมมือกัน หากไม่ต้องการให้เกิดการระบาดใหญ่จนต้องล็อกดาวน์อีก”นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าว