ก.ย.เริ่มฉีด'วัคซีนโควิด'เข็ม 3 ประชาชน

ก.ย.เริ่มฉีด'วัคซีนโควิด'เข็ม 3 ประชาชน

สธ.คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 3 ให้ประชาชนพื้นที่เสี่ยง ก.ย.นี้ คาดมี 3 ล้านคน ขณะที่ปริมาณวัคซีนถึงสิ้นปีมีราว 124 ล้านโดส 

   เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 258,782 โดส ฉีดสะสมแล้ว 30,679,289  ดา เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,807,078 ราย ครบ 2 เข็ม 7,287,885 ราย และเข็ม 3 จำนวน 584,326 ราย

 สูตรฉีดวัคซีนของไทย

        นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  การฉีดวัคซีนสูตรต่างๆสำหรับประชาชนไทย  แยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กลุ่มเป้าหมายประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุ ผู้มีกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะมี 2 สูตร คือ สูตรที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์เป็นสูตรหลัก หรืออาจมีบางกรณีที่จำเป็นทางการแพทย์ หรือเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าฯอยู่แล้วก็จะเป็นสูตรที่ 2 คือ วัคซีนแอสตร้าฯ  2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์

   163022128312

 

 

 

 

 

2.กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

 3.กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า

-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าฯ กระตุ้น 1 เข็ม

-ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2  โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก

-วัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ (สูตรไขว้)

-วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์

 

ปริมาณวัคซีนปีนี้ราว 124 ล้านโดส

          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2564 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จัดหาวัคซีนโควิด 19รวมแล้ว 124 ล้านโดส ได้แก่ ซิโนแวค 31.5 ล้านโดส

แอสตราเซนเนก้า 61 ล้านโดส จะส่งมอบเดือนตุลาคม - ธันวาคม เดือนละ 10-13 ล้านโดส และไฟเซอร์อีก 31.5 ล้านโดส จะเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ประมาณ 2 ล้านโดส และทยอยส่งมอบจนครบภายในสิ้นปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่นำเข้าโดยหน่วยงานอื่น ได้แก่ วัคซีนซิโนฟาร์ม โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 11 ล้านโดส และวัคซีนโมเดอร์นา ของโรงพยาบาลเอกชนที่นำเข้าผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาในไตรมาส 4 ปีนี้

       “เชื่อว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถฉีดได้ครอบคลุมประชาชนมากกว่า ร้อยละ 70 ตามเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยหลังจากฉีดกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และ หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปครอบคลุมแล้ว จะขยายไปยังกลุ่มประชาชนทั่วไป และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งมีข้อมูลว่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้ปลอดภัย" นพ.โอภาสกล่าว

163022135396

ฉีดได้ตามเป้า 70 %

        นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีน แม้วัคซีนทุกตัวในโลกไม่มีตัวใดป้องกันติดเชื้อ 100% แต่ทุกตัวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยแนะนำ มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อลงได้ ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดี เป้าหมายวัคซีนจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสในปีนี้ โดยไล่เรียงตามกลุ่มเป้าหมาย พยายามฉีดกลุ่มเปราะบางติดเชื้ออาการรุนแรง คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคสำคัญ และหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่ม 608 โดยเฉพาะ ก.ย.ตั้งเป้าฉีดเข็มแรกครอบคลุม 70% ของกลุ่ม 608 นี้ ในทุกจังหวัด จากนั้นจะฉีดกลุ่มอื่นทยอยต่อไป รวมทั้งกลุ่มเด็ก ซึ่งไฟเซอร์ฉีดในเด็ก 12 ปีขึ้นไปได้ จะเข้ามาปลาย ก.ย.นี้ จะทยอยฉีดประชาชนและกลุ่มเด็กต่อไป

         ต่อข้อถาม จากที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเลขภูมิคุ้มกันหมู่จาก 70% หรือไม่  นพ.โอภาส กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันหมู่กี่เปอร์เซ็นต์ขึ้นกับหลายปัจจัย คือ เชื้อโรคกระจายเร็วแค่ไหน แต่ละตัวมีวัคซีนที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แตกต่างกัน แม้เชื้อเดียวกัน เช่น โควิด 19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ช่วงแรกสายพันธุ์ดั้งเดิมแพร่ไม่รวดเร็ว พอเป็นเดลตาแพร่กระจายเชื้อสูงมากขึ้น การคิดเรื่องภูมิคุ้มหมู่ปรับเปลี่ยนไปตามเชื้อกลายพันธุ์ และยังขึ้นกับพื้นที่นั้นๆ ว่าแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือความสามารถระบาดของโรคมากน้อยแค่ไหน ต้องเอามาประกอบกัน ค่าผันแปรจึงขึ้นกับแต่ละที่ แต่ละเวลา รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจากเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ

      "เดิมวางแผนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% คิดเป็นตัวเลข 50 ล้านคน ทั้งประชาชนคนไทย และผู้ที่อาศัยในแผ่นดินไทย ตามนโบยายรัฐบาล ซึ่งตัวเลขสิ้น ธ.ค.แผนจัดหาได้ประมาณ 140 ล้านโดส ถ้าดูตามตัวเลขนี้ก็คงฉีดให้ทุกคนในแผ่นดินไทยได้ ตอนนี้เชื่อว่าถ้าทุกคนต้องการฉีด และประเทศไทยน่าจะฉีดเกิน 70%  ส่วนตัวเลขเป้าหมายจะปรับอย่างไร ให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง" นพ.โอภาสกล่าว

163022136935

พ.ย.เริ่มฉีดเข็ม 3 พื้นที่เสี่ยง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเป้าหมาย กลยุทธ์ และมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างปลอดภัย  ในส่วนของเป้าวัคซีนนั้นมีการกำหนดไว้ว่า เดือนส.ค.ฉีดเข็ม 1 ในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ใน 12 จังหวัดได้ 70 % 

เดือนก.ย. ฉีดเข็ม 1 ในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างน้อย 70 % ในทุกจังหวัด

เดือนต.ค. – ต้นพ.ย.  ฉีดครบ 2 เข็มในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างน้อย 70 % และมากกว่า 50 % ในประชาชนทั้งประเทศรวมเด็ก

เดือนพ.ย.-ต้นธ.ค. ประชาชนทั้งประเทศได้ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุม 70 % และเริ่มฉีดเข็ม 3 ในพื้นที่เสี่ยง

เดือนธ.ค. ประชาชนได้ฉีดเข็ม 2 ครอบคลุม 70 % และเริ่มฉีดเข็ม 3 ทั่วประเทศ 

       สำหรับปริมาณวัคซีนในส่วนที่รัฐจัดหาเฉพาะ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 จำนวน 85.3 ล้าน โดส แยกเป็น  ซิโนแวค 12 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า  43.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30 ล้านโดส  

    ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดเข็ม 3แล้วเกือบ 6 แสนราย โดยให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งหากมีการเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงราวเดือนพ.ย.นั้น คาดว่าลำดับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับก่อน คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นการจัดลำดับการรับวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน เหมือนการจัดลำดับการเข้ารับวัคซีนที่ผ่านมา 

3 ล้านคนฉีดเข็ม 3 ปลายก.ย.

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ของประชาชนทั่วไป ทางอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 มีมติให้เริ่มทำการฉีดในช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 ซึ่งจะเป็นวัคซีนใด ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์วัคซีนที่เรามีในขณะนั้น โดยผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ