'กระทรวง พม.' สร้างวิถีใหม่ ป้องกันแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก
'กระทรวง พม.' ดึงภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย ป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก หลังพบ เด็กมากกว่าหมื่นคน เข้ารับการรักษา รพ.ด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง ล่วงละเมิด รวมถึง ถูกทอดทิ้ง ใช้แรงงาน
วันนี้ (30 ส.ค. 64) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในการแถลงข่าว “ผนึกกำลังสร้างวิถีใหม่ เพื่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย 1) นายนิยม สองแก้ว รองปลัดกระทรวงแรงงาน 2) พลตำรวจเอก จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3) นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร
4) แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 5) ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ 6) นางวราภรณ์ สุวรรณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้นทุนและการกำหนดราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กทม.
- โควิด "เด็กเร่ร่อน" ยากจน
นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง รวมทั้งปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือ "กลุ่มเด็กเปราะบาง" ที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน
ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาความกดดันต่างๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ในการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวทั้งที่เด็กสมัครใจและถูกบังคับ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความยากจน เป็นต้น อีกทั้ง ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาที่สูงมาก จากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เด็กกว่าหมื่นคน ถูกใช้ความรุนแรง
สำหรับ ปัญหาการ ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุของการถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ และจากข้อมูลของ UNICEF พบว่า 3 ใน 4 ของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 1 – 14 ปี เคยถูกลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจโดยสมาชิกครอบครัวในเดือนที่ผ่านมา
เด็ก 4.2 คนใน 100 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายในระดับรุนแรง เด็กโดยเฉลี่ย 52 คน ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทางกาย หรือทางใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในแต่ละวัน หรือประมาณ 2 คนในหนึ่งชั่วโมง
- 3 ใน 5 เคส ถูกใช้ "ความรุนแรงในครอบครัว"
อีกทั้ง จากสถิติผู้ใช้บริการสายด่วน 1300 กระทรวง พม. ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - เดือนกันยายน 2562 มีการรายงานเคสความรุนแรงต่อเด็กหรือเยาวชนเฉลี่ย 5 เคสต่อวัน โดยจำนวน 3 ใน 5 เคส เป็นกรณีการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน พบบ่อยที่สุดคือ ความรุนแรงจากพ่อหรือแม่ที่กระทำต่อเด็ก
- ปัญหา "ใช้แรงงานเด็ก" กว่าแสนคน
และ จากข้อมูลของ National Working Children Survey of 2018 พบเด็กประมาณ 177,000 คน ที่ทำงานใช้แรงงานเด็ก ในจำนวนนี้ มี 133,000 คน อยู่ในงานที่เสี่ยงอันตราย สำหรับประเทศไทยรวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านถูกแสวงการประโยชน์จากการค้าประเวณีเชิงพาณิชย์ในร้านอาบอบนวด บาร์ ร้านคาราโอเกะ โรงแรม และในที่พักส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังมีการล่อลวงออนไลน์ทางสื่อโซเชียลและห้องแชทต่างๆ เพื่อบังคับเด็กมาผลิตสื่อลามกหรือมีเพศสัมพันธ์
- ช่วยเหลือครอบครัว ต้องการมีอาชีพ
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ทำงานเพียงกระทรวงเดียวไม่ได้ เราต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเยาวชน กลุ่มครอบครัว ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ตนทราบถึงปัญหาและได้ผนึกกำลังกันกับหลายกระทรวง เพื่อเปลี่ยนมิติจากการปราบปราม เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อสร้างอนาคต สร้างวิถีชีวิตใหม่ ที่สามารถให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้เข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทาง วิธีการที่จะสร้างอนาคต
และเราจะมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ผู้ประกอบการสินค้าแปลกๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตเอง ทำเอง ขายเอง ในขณะเดียวกันเราใช้เมตตา โอกาส และความสร้างสรรค์ แต่เรามีกฎหมายตีกรอบว่า ถ้าเกิดมีการใช้ประโยชน์จากเด็กเยาวชนโดยไม่ชอบ ก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ครอบครัวไหนที่มีความจำเป็นอยากจะประกอบอาชีพ เรามีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงดีอีเอส กระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คอยช่วยเหลืออยู่ด้วยความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือให้เดินหน้าไปด้วยกัน
- เพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแล 50 เขต กทม.
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้เราพยายามเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และกระทรวง พม. ได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ เรายังได้ผนึกกำลังกับสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 โดยกระทรวง พม. จะมีเจ้าหน้าที่เพิ่มให้ครบทั้ง 50 เขต คอยดูแลปัญหาเหล่านี้และพัฒนากลุ่มเป้าหมายให้มีความยั่งยืนได้พ้นจากปัญหาที่ประสบอยู่
ในขณะเดียวกันเราให้ทั้งโอกาสและใครก็ตามที่มาใช้โอกาสโดยไม่ชอบก็ต้องจัดการ หากประชาชนเกิดปัญหาสามารถติดต่อ สายด่วน พม. โทร. 1300 หรือสายด่วน ตำรวจ โทร. 191 ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าจะมีเยาวชนที่เข้าใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราได้รับการฝึกจิตวิทยา และเราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ โดยเราเชื่อว่าถ้าเราทำตรงนี้ได้ เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกเอาเปรียบและไม่ถูกหลอกใช้
- บูรณาการทำงาน ช่วยเหลือเด็กทุกมิติ
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนหรือกลุ่มเด็กเปราะบางที่เดินขอเงินหรือขายพวงมาลัยบนท้องถนน จำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตามที่รัฐบาลได้มอบนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้และเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทุกปัญหา ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีภารกิจสำคัญในการดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง ภายใต้การดำเนินงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานสงเคราะห์สำหรับรองรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานช่วยเหลือเด็กในทุกมิติ ได้แก่
1) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551
2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเรื่องชี้แจงกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง กรณีปล่อยปละละเลยรู้เห็นเป็นใจหรือแสวงประโยชน์จากเด็ก ตามบทลงโทษตามกฎหมาย
3) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ดำเนินกระบวนการช่วยเหลือเด็ก โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่และศูนย์สร้างโอกาส ทั้งหมด 7 แห่ง
4) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้ความรู้ การให้คำแนะนำแก่เด็ก พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ และการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในครอบครัว อีกทั้งติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เหมาะสมตามวัย หากเกิดพฤติกรรมซ้ำ จะประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย
5) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการทุกวัย โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมสำหรับเด็กและครอบครัว
6) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการส่งเสริมกิจการด้านการตลาด สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่เด็กและครอบครัว จาก on ground to online