5เดือน 'ระลอกใหม่' บทเรียนของรัฐบาล
5 เดือน ที่ผ่านมา ประเทศไทยวนเวียนกับปัญหาการจัดหาวัคซีนที่นายกรัฐมนตรีพยายามใช้การบริหารในแบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” ในการควบคุมโรค การจัดหาวัคซีน ยาและอุปกรณ์ตรวจเชื้อ โดยระยะเวลาที่หายไป 5 เดือน ไม่ได้ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง
การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกเป็นหญิงชาวจีนเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2563 หลังจากนั้นมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนถึงระดับที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศในช่วงกลางปี 2563 และสถานการณ์ในประเทศไทยช่วงครึ่งหลังปี 2563 เรียกได้ว่าเกือบอยู่ในระดับปกติ โดยทุกคนสามารถออกมาทำกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมเศรษฐกิจได้เกือบ 100% และเหลือมาตรการควบคุมไม่กี่รายการ เช่น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการกักตัว
ครั้นเมื่อเข้าสู่เดือน ม.ค.2564 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะการระบาดระลอกที่ 2 ที่มีพื้นที่เกิดเหตุสำคัญในจังหวัดสมุทรสาครที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาการลักลอบเข้ามาเมืองผิดกฎหมายของแรงงานต่างชาติ รวมถึงการเกิดคลัสเตอร์บ่อนการพนันในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออก แต่ด้วยการควบคุมแรงงานต่างชาติที่เข้มข้นให้อยู่ในพื้นที่จำกัดจึงสามารถควบคุมการระบาดระลอกที่ 2 ได้ในเวลาเพียง 1-2 เดือน และรัฐบาลใช้งบประมาณไม่มากในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
แต่เมื่อเข้าสู่เดือน เม.ย.2564 เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ที่มีผู้ป่วยสะสมมากขึ้นและสถานการณ์ติดเชื้อมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยนับเวลารวมได้ 5 เดือน มีผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 30 ส.ค.2564 รวม 1.16 ล้านคน มีผู้อยู่ในขั้นตอนการรักษาพยาบาล 176,137 คน หากย้อนไปเมื่อ 1 ปี ที่แล้ว น้อยคนที่จะคาดคิดว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1 ล้านคน เพราะในวันนั้นประเทศมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่อันดับมากกว่า 140 แต่ปัจจุบันเลื่อนมาอยู่อันดับ 29 ของโลก
วัคซีนเข็มแรกถูกฉีดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 เป็นการฉีดป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาดระลอกที่ 2 และเริ่มมีคำถามของสังคมถึงการรับมอบวัคซีนที่ล่าช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน คำถามที่เกิดขึ้นมีต่อเนื่องจนเข้าสู่ช่วงที่ประเทศไทยประสบกับจุดเริ่มต้นที่ร้ายแรงยั่งขึ้นหลังจากเกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งมีผู้ไม่รับผิดชอบต่อสังคมกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และหลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมไล่ระดับจากหลักพัน ขึ้นมาหลักหมื่นหลักแสน และมาอยู่หลักล้านในปัจจุบัน
5 เดือน ที่ผ่านมา ประเทศไทยวนเวียนกับปัญหาการจัดหาวัคซีนที่นายกรัฐมนตรีพยายามใช้การบริหารในแบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” ในการควบคุมโรค การจัดหาวัคซีน ยาและอุปกรณ์ตรวจเชื้อ โดยระยะเวลาที่หายไป 5 เดือน ไม่ได้ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลง ถึงแม้รัฐบาลพยายามเผยแพร่ข้อมูลคำสั่งซื้อวัคซีนหลายยี่ห้อ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อจำนวนมาก แต่ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะพาประเทศพ้นวิกฤติได้ในเร็ววัน ถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลต้องตระหนักให้มากเพราะวิกฤตินี้จบลงไม่ง่าย