'ซัพพลายเชนอาเซียนป่วน'ดันราคาอาหารญี่ปุ่นพุ่ง

'ซัพพลายเชนอาเซียนป่วน'ดันราคาอาหารญี่ปุ่นพุ่ง

'ซัพพลายเชนอาเซียน'ดันราคาอาหารญี่ปุ่นพุ่ง โดยการระบาดของโควิดในอาเซียนยังไม่บรรเทาภาวะตึงตัวของระบบห่วงโซ่อุปทานก็ดำเนินต่อไป บ่งชี้ว่ามาตรการควบคุมโรคระบาดยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักๆ

บรรดานักช็อปในซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นที่อยู่ไกลออกไปจากเมืองหลวงหลายพันกิโลเมตร เริ่มรับรู้เกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรและการกระจายสินค้าประเภทอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสาเหตุมาจากมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

ราคาน้ำมันปาล์ม ที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตเนยเทียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกจำนวนมากปรับตัวเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นขึ้นไปแตะระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตั้งแต่ปี 2528 โดยเพิ่มขึ้น32% จากปีก่อนหน้านี้มาอยู่ที่ราคากิโลกรัมละประมาณ 217 เยน (1.97 ดอลลาร์)ในเดือนนี้

ความท้าทายที่บรรดาผู้ผลิตอาหารเผชิญอยู่ตอนนี้ก็เหมือนกับที่โตโยต้า มอเตอร์ ถูกบังคับให้ลดกำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกนั่นคือการขาดแคลนแรงงานในส่วนของการผลิตในประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคอาเซียน เช่นในมาเลเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มหลักที่เมื่อเดือนก.ค.ผลิตได้ประมาณ 1.52 ล้านตัน ผลผลิตน้ำมันปาล์มลดลง 16% จากปีก่อนหน้านี้

ขณะที่ข้อมูลของคณะกรรมการน้ำมันปาล์มมาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียและประเทศอื่นๆในอาเซียนพึ่งพาแรงงานอพยพที่ต้องการงานที่ใช้แรงงานเป็นหลักอย่างเช่นงานในภาคการเกษตร

การที่ราคาอาหารในอาเซียนปรับตัวขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงในญี่ปุ่น โดยเมจิ บริษัทอาหารชั้นนำที่จำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆตั้งแต่นม ถึงช็อกโกแล็ตแท่งโดยใช้แบรนด์ของบริษัท เปิดเผยว่า ราคาเนยเทียมเพิ่มขึ้นระหว่าง 4.3% และ 12.8% ตั้งแต่เดือนต.ค. ขณะที่บริษัทคู่แข่งเม็กมิลค์ สโนว์ แบรนด์บอกว่าจะขึ้นราคาเนยเทียมระหว่าง 1.9% และ 12.2% ในช่วงเดือนเดียวกัน

“ตอนนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะหาคนงานมาร่วมงานด้วยในโรงงานหลายแห่ง รวมทั้งในมาเลเซียที่ผลิตน้ำมันปาล์ม ”ผู้จัดการบริษัทเมจิ กล่าว

แต่น้ำมันปาล์มไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าเพียงอย่างเดียวในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ราคาค้าส่งสัตว์ปีกในไทยก็ปรับตัวขึ้นมากแตะระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือนเพราะโรงงานผลิตเนื้อไก่ต้องปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากคนงานติดเชื้อโควิด ส่งผลให้ขณะนี้ เนื้อไก่แช่แข็ง ที่ผู้บริโภคในอาเซียนนิยมนำมาปรุงอาหารค่ำ มีราคาค้าส่งที่กิโลกรัมละ 390 เยน และผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน4 ของปริมาณไก่ที่ขายอยู่ในญี่ปุุ่น

สำหรับสตาร์เซน บริษัทค้าส่งเนื้อในญี่ปุ่น ผลผลิตที่โรงงานซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของไทยปรับตัวร่วงลงมากเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ในรูปแบบคลัสเตอร์ในกลุ่มแรงงานประจำโรงงาน เพราะมาตรการเข้มงวดในการเดินทางของเหล่าแรงงานอพยพจากเมียนมา และลาวทำให้ซัพพลายเออร์ทั้งหลายเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานถ้วนหน้ากัน

สตาร์เซน คาดการณ์ว่าการจัดส่งผลิตภัณฑ์เนื้อของบริษัทตามคำสั่งซื้อของลูกค้ารายใหญ่จะล่าช้าประมาณสองเดือน และที่ผ่านมา บริษัทตัดสินใจไม่รับคำสั่งซื้อใหม่ และมีแผนที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนคนงานกับบรรดาซัพพลายเออร์จากบราซิล และที่อื่นๆ

“นิชิเรอิ” บริษัทอาหารแช่แข็งรายใหญ่ของญี่ปุ่น กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานในหน่วยงานย่อยในไทยให้ได้ ขณะที่แรงงานประจำโรงงานผลิตของบริษัทลดลงระหว่าง15% และ 20% โดยที่ผ่านมาบริษัทถูกกดดันให้จำกัดการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไก่ทอดรูปแบบใหม่ในตะวันออกของญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ร่วงนี้

ขณะที่พริกไทยก็มีราคาแพงขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยหลายบริษัทกำลังขายพริกไทยดำให้แก่บรรดาผู้ผลิตเครื่องเทศที่ประมาณกิโลกรัมละ 1,030 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% นับตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนและราคาเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ส่วนพริกไทยขาว ซึ่งใช้ในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป ปรับตัวขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 1280 เยน เพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนหน้านี้

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอาเซียนยังไม่บรรเทาเบาบางลง ส่วนภาวะตึงตัวของระบบห่วงโซ่อุปทานดูเหมือนจะดำเนินต่อไป บ่งชี้ว่ามาตรการควบคุมโรคระบาดยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักๆ

ในญี่ปุ่น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จำเป็นรายวันเริ่มหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแผนงานทางธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

“ในขั้นนี้ ยังไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่เรากำลังหารือเกี่ยวกับแผนธุรกิจ ที่รวมถึงการผลิตและเรื่องอื่นๆเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิดในระยะยาว”แหล่งข่าววงใน กล่าว

สิงคโปร์ ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ปวดหัวกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเมื่อเดือนมิ.ย.สำนักงานสถิติของสิงคโปร์ ระบุว่า นับจนถึงเดือนธ.ค.ปี 2563 จำนวนแรงงานอพยพที่ทำงานตามไซต์ก่อสร้าง อู่ต่อเรือและโรงงานผลิตด้านอุตสาหกรรมต่างๆในสิงคโปร์ปรับตัวร่วงลง 16% เหลือ 311,000 คน ขณะที่แรงงานต่างชาติโดยรวมมีจำนวน 1.23 ล้านคนลดลง 14% ในจำนวนนี้ รวมถึงพนักงานประเภทใช้แรงงานและพนักงานประจำออฟฟิศ

รัฐบาลสิงคโปร์จำกัดพื้นที่และการเดินทางให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดกักตัวอยู่ในหอพักแรงงาน รวมทั้งพยายามแยกผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ไม่ติดเชื้อออกจากกัน เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด

ด้านกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ระบุว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่เท่ากันขณะที่ภาคการผลิต และการค้าปลีก จะขยายตัวจากความต้องการจากต่างประเทศ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และที่เกี่ยวข้องกับการบิน จะยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ