กทม.จับตา 'โควิด' สายพันธุ์ 'มิว' ระบาดต่างประเทศ หนุนเร่งฉีดวัคซีนคนกรุงครบ 100 %
กทม.จับตา "โควิด-19" สายพันธุ์ "มิว" ระบาดต่างประเทศ หนุนเร่งฉีดวัคซีนคนกรุงให้ครบ 100 % "อัศวิน" เผยเตรียมสำรวจสต๊อก "วัคซีน" 4 ก.ย. ยันพร้อมเปิดลงทะเบียนไทยร่วมใจฯ รอบใหม่อีกครั้ง
วันที่ 2 ก.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวผลการดําเนินงานวัคซีนไทยร่วมใจตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 และการให้บริการวัคซีนในระยะต่อไป ผ่านแอพลิเคชัน Webex Meet
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของศูนย์ฉีดวัคซีนไทยร่วมใจ 25 แห่งนั้น ในวันที่ 4 ก.ย. กทม.จะสำรวจวัคซีนที่มีขณะนี้ว่าเหลือจำนวนเท่าใด เพื่อจะเปิดลงทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งการฉีดวัคซีนของ กทม.อยากให้ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 100% ทั้ง 2 เข็ม ส่วนการฉีดเข็มที่ 3 หากกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนมาเมื่อไหร่ ไทยร่วมใจฯก็พร้อมดำเนินการได้ภายใน 3 วัน อย่างไรก็ตามคาดว่าภายในปี 2564 จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนได้
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา การให้วัคซีนผ่านโครงการไทยร่วมใจฯ เป็นการให้บริการผ่าน“หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” ทั้ง 25 แห่ง โดยมีความพร้อมในการให้บริการแต่ละศูนย์ฉีด ได้วันละ 50,000 โดส และ สามารถฉีดได้สูงสุดถึงวันละ 71,789 โดส ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมทั้งสิ้น 1,479,589 โดส ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. - 21 ส.ค. 64 ให้บริการเฉพาะการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 รวมจำนวน 1,361,511 โดส แบ่งเป็น 1.ผู้ที่มีอายุ 18 - 59 ปี จำนวน 1,045,219 โดส และ 2.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 316,292 โดส โดยฉีดได้สูงสุดในวันที่ 27 ส.ค. ฉีดได้ 71,789 โดสในส่วนของการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย.64 รวมทั้งสิ้น 79,567 โดส ซึ่งตามกำหนดจะฉีดถึงวันที่ 20 พ.ย.นี้
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่าการให้บริการวัคซีนโควิดของกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 ก.ย.64 จากเป้าหมาย 7,699,174 คน โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 7,059,354 คน (คิดเป็นร้อยละ 91.69) และครบ 2 เข็ม จำนวน 1,888,7779 คน (คิดเป็นร้อยละ 24.53) โดยกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนประกอบด้วย
1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (รับวัคซีนครบแล้ว)
2.กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 97.40 และเข็ม 2 ร้อยละ 11.86)
3.กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7กลุ่มโรค (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 77.60 และเข็ม 2 ร้อยละ 11.98)
4.กลุ่มเจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหน้า (รับวัคซีนเข็มครบแล้ว) กลุ่มประชาชนทั่วไป (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 92.04 และเข็ม 2 ร้อยละ 25.59)
5.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ (รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 29.75 และเข็ม 2 ร้อยละ 1.52)
นายสนั่น กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับภารกิจการกระจายวัคซีนให้ถึงประชาชน เพราะไม่ใช่แค่การช่วยลดอัตราผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตอย่างเดียว แต่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ โดยโครงการไทยร่วมใจฯ ขณะนี้มีความคืบหน้าในการฉีดวีคซีนในเข็มที่ 2 แล้ว ทำให้สถานการณ์จากนี้เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ภาคเอกชนเห็นด้วยกับภาครัฐในผ่อนคลายธุรกิจเพื่อให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ โดยในสิ้นปีจะมีการเปิดเมืองมากยิ่งขึ้น ให้สามารถเดินทางผ่านจังหวัดเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีขึ้นไปด้วย ดังนั้นขอให้ทุกคนฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อให้มีการเปิดประเทศได้ต่อไป
ขณะที่นางสาวปฐมา กล่าวว่า สำหรับกรณีประชาชนติดขัดในวันที่นัดฉีด สามารถขอให้เดินทางไปฉีดภายในสัปดาห์นี้ที่หน้าศูนย์ได้เลย ยืนยันว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วันนี้ฉีดไปแล้วสำหรับเข็มแรก 1,467,876 คน หรือคิดเป็น 71 % แต่หากยอดที่จองถ้าวัคซีนข่วงแรกมาครบ ก็จะทำได้ 100 % แต่ที่ได้ 71 % เพราะมีประชาชนอาจจะไปฉีดที่อื่น แต่ 71 % ถือว่าพอใจ
ด้านนายผยง กล่าวว่า หากประชาชนฉีดในระบบไทยร่วมใจฯ ไปแล้ว ส่วนข้อมูลการฉีดนั้นสามารถตรวจสอบได้ที่ "หมอพร้อม" เช่นกัน
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่เหลือนั้น ในวันที่ 4 ก.ย.จะมีการสำรวจยอดว่าเหลือเท่าไหร่ เพื่อจะเปิดลงทะเบียนรับวัคซีนที่เหลือ ส่วนวัคซีนที่ได้รับจัดสรรจะมาเพิ่มนั้น กทม.ยังมีเป้าหมายให้ฉีดได้ 70 % แต่อยากจะฉีดได้ให้ 100 % ส่วนการฉีดเข็มที่ 3 ยืนยันว่าทั้ง 25 ศูนย์ฯ มีศักยภาพในการช่วยฉีดเข็ม 3 สำหรับคนที่เคยฉีดซิโนแวค 2 เข็มมาแล้วในช่วงต้นปี ซึ่งกระทรวงสาธารสุขบอกว่าจะฉีดเข็ม 3 ปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. ขณะที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ช่วง 3-4 วันมีตัวเลขลดลงอยู่ประมาณ 3 พันราย แต่ กทม.ได้เตรียมพร้อมกรณีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นซึ่งการครองเตียง กทม.ขณะนี้ลดลง 40 % ทำให้สามารถดูแลได้ดีและผ่อนคลายมากขึ้น
"ส่วนมาตรการผ่อนคลายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในร้านตัดผมและร้านอาหาร เรายังคำนึงปัจจัยความเสี่ยงอยู่ ซึ่งการวัคซีน 2 เข็มและชุดตรวจ ATK ทาง ศบค.กำลังวางมาตรการแนวทางช่วยเหลือธุรกิจเสี่ยงอยู่เช่นกัน คาดว่าจะมีความชัดเจน 2-3 สัปดาห์นี้ ส่วนรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่นั้น คาดว่าในสัปดาห์หน้า ผู้ว่าฯกทม.จะทดสอบรถว่าเป็นอย่างไร โดยมีเป้าหมายในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ขึ้นไปและกลุ่ม 7 โรคที่ยังไม่ได้รับวัคซีน"ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ส่วนกรณีไวรัสกลายพันธ์ C.1.2 หรือ "มิว" นั้น องค์การอนามัยโลก ได้นับเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ และกำลังศึกษาว่าจะแพร่กระจายตัวหรือไม่ ซึ่งนักวิชาการในองค์การอนามัยโลก บอกว่าแนวทางการกลายพันธุ์จากขาของไวรัส มีโอกาสจะหลีกเลี่ยงวัคซีนและแพร่ได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดยังต้องรอการศึกษาก่อน แต่ทาง กทม.ได้เตรียมพร้อมฉีดวัคซันให้มากที่สุดเพื่อลดการแพร่ระบาด ร่วมถึงการเดินหน้าเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มเติม
ด้านนพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. เรามีผู้ติดเชื้อประมาณ 5 พันคนและลงมาที่ 3.5 พันคนช่วง แต่วันที่ 1 ก.ย.ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการที่เปิดห้าง มีกิจกรรม รับประทานอาหารในร้านได้ส่วนหนึ่งนั้น กทม.ยังจะร่วมสังเกตุต่ออีก 2 สัปดาห์ต่อไป แต่ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 3 พันคนใน 2 สัปดาห์ถือว่าสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น แต่ขณะนี้ตัวเลขจะเฝ้าระวังใกล้ชิด
"ส่วนเชื้อกลายพันธุ์มิวนั้น เป็นเชื้อที่กรมควบคุมโรคบอกว่ายังไม่มีการระบาดในประเทศไทย แต่จะมีการควบคุมการเดินทางประเทศที่มีการระบาดของสายพันธุ์มิว แต่สำนักการแพทย์ ได้เตรียมเตียงกลุ่มสีแดง เตียงเหลือง และเครื่องช่วยหายใจในการเตรียมความพร้อม"นพ.สุขสันต์ ระบุ