สขค.แนะเอสเอ็มอีปรับตัวรับความเสี่ยงการแข่งขันทางการค้า

สขค.แนะเอสเอ็มอีปรับตัวรับความเสี่ยงการแข่งขันทางการค้า

สขค. ส่งสัญญาณความเสี่ยงการแข่งขันทางการค้ากลุ่มเอสเอ็มอี  หลังการระบาดโควิด ชี้ โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยน แนะแนวทางเอาตัวรอด  พร้อมชูมาตรการช่วยรายย่อยภายใต้ภาวะวิกฤต

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.)  เปิดเผยว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ที่แสดงให้เห็นว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs เมื่อพิจารณาจาก GDP ของ SMEs ปี 2563 พบว่า ขนาดของผลประกอบการของ SMEs มีอัตราการลดลงถึง   9.1% เมื่อเทียบกับ GDP ประเทศที่ลดลงประมาณ   6.1% ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเริ่มระบาดและจากการติดตามสถานการณ์ของ SMEs มาอย่างต่อเนื่องของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ยังคาดว่าสิ่งที่ SMEs ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในระยะหลังจากนี้คือ

  163065069975

1.โครงสร้างทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่มาจากการรุกคืบของเทคโนโลยี E-platform ต่างๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น E – Service , E – Logistic และ E - Commerce ทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ต้องถูกแย่งพื้นที่ตลาด โดยเฉพาะธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งออนไลน์ รวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

2. การควบรวมธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า Mergers & Acquisitions: M&A ที่รวมถึงการกว้านซื้อธุรกิจรายใหญ่ซึ่งปัจจุบันหลายธุรกิจทั่วโลกได้เดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการควบรวมกิจการมากขึ้น ที่มักมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจจากการรวมธุรกิจ และจะเป็นการสร้างทางรอดของธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่ตามมาคือทำให้โอกาสการแข่งขันโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs และ MSMEs ลดลง หรือไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากไม่มีอำนาจทางการค้าที่มากพอ อีกทั้งยังอาจจะตามมาซึ่งการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ จากธุรกิจรายใหญ่อีกด้วย

3.การใช้อำนาจเหนือตลาดจากผู้ที่มีความสามารถในด้านเทคโนโลยี ซึ่งหาก SMEs ไม่สามารถปรับตัวหรือรู้เท่าทันกับเรื่องดังกล่าว ก็จะเป็นผู้เสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า และนำมาซึ่งช่องว่างในการถูกรังแกจากผู้ที่มีความสามารถที่มากกว่าอย่างต่อเนื่อง

163065072375

นายสกนธ์ กล่าวว่า   สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่บีบบังคับให้กลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องเร่งปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด และเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs  ที่ต้องเร่งปรับองค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมีจินตนาการให้ได้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องศึกษาความท้าทายจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับแข่งขันทางการการค้าเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ฯลฯ

ในส่วนของ สขค.ที่ต้องกำกับดูแลสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เป็นธรรมและไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยที่ผ่านมาได้เออกแนวปฏิบัติที่จะใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเพื่อเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกๆราย  โดยแนวปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ 1. แนวปฏิบัติสำหรับการประกอบธุรกิจค้าปลีก 2. แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางเเละขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ 3. แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ 4. แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งการเปิดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงและทางออนไลน์ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า

ทั้งนี้หากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการประกอบธุรกิจ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทางโทรศัพท์ 02-199-5444 หรือทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th  หรือส่งข้อมูลทางไปรษณีย์ได้