1 ปีที่หายไป ประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

1 ปีที่หายไป ประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'

รฟม.ลุยประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต.ค.นี้ หลังติดหล่มแก้เกณฑ์คัดเลือก ต้นเหตุฟ้องร้องรั้งประมูลช้ากว่า 1 ปี จ่อแก้ทีโออาร์ขีดกรอบดำเนินงานสั้นลง ยันเปิดฝั่งตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ต้นปี 2568

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ฤกษ์ประกาศเดินหน้ากระบวนการประกวดราคาอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ รฟม.ยกเลิกการประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564

ย้อนไทม์ไลน์ของการดำเนินงานในโครงการประกวดราคารถไฟฟ้าสายนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการมหากาพย์ที่มีเรื่องราวสืบเนื่องมากว่า 1 ปี และหากย้อนดูยังพบว่ามีเหตุการณ์สำคัญ นับตั้งแต่การออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน  

  • 3 ก.ค. 2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรับและเอกชน (พีพีพี)
  • 10 – 24 ก.ค. 2563 ได้ขายซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โดยมีผู้สนใจซื้อซองเอกสาร RFP รวม 10 ราย
  • 27 ส.ค. 2563 นำส่งเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ให้เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP ทุกราย แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน
  • 17 ก.ย. 2563 เอกชนผู้ซื้อซองเอกสาร RFP รายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะฉบับใหม่
  • 19 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามเกณฑ์การประเมินใหม่ไว้เป็นการชั่วคราว
  • 2 พ.ย. 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองชั้นต้น
  • 9 พ.ย. 2563 รฟม.เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ มีเอกชนยื่นซอง 2 ราย
  • 3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
  • 11 ก.พ.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
  • 22 ก.พ. 2564 เอกชนยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165
  • 5 พ.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคำฟ้อง
  • 18 ส.ค.2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุน
  • 1 ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง กรณีห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่า จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดนั้น รฟม.เล็งเห็นว่าคดีที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในครั้งแรก ถือว่าสิ้นสุดลงตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้จำหน่ายคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว และคดีฟ้องการคัดเลือกครั้งใหม่ ก็ได้ข้อยุติสิ้นสุด ศาลปกรองสูงสุดก็ตัดสินไม่รับฟ้อง ทำให้ รฟม.สามารถเริ่มดำเนินการประกวดราคาต่อไปได้

อย่างไรก็ดี รฟม.ยอมรับว่าภาพรวมของโครงการดังกล่าวล่าช้าจากแผนมาพอสมควร ดังนั้นจึงมีเป้าหมายปรับแก้ข้อกำหนดกรอบเวลก่อสร้างโครงการให้สั้นลง เพื่อเร่งรัดการให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเปิดเดินรถช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ต้นปี 2568 และเปิดเดินรถทั้งสายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570

โดยเบื้องต้น รฟม.มีกรอบดำเนินการประกวดราคารอบใหม่ กำหนดว่าจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) หลังจากนั้นในเดือน ต.ค.จะขายซองเอกสาร ให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอประมาณ 90 วัน และเปิดให้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน ม.ค.2565 คาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเป็นประโยชน์กับ รฟม.และโครงการ ราว 3 เดือน และเสนอคณะรัฐนมตรี (ครม.) เห็นชอบผลการประกวดราคาในเดือน เม.ย.2565

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)