ผู้ผลิตยาญี่ปุ่น ดิ้นยื่นอุทธรณ์สิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย ผู้ผลิตยาญี่ปุ่น ดิ้นยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ทันเส้นตาย 60 วัน หลังถูกปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ดในไทย เตรียมพิจารณาคำอุทธรณ์ต่อ ชี้ระหว่างนี้ อภ.-บริษัทยาไทย เดินหน้าผลิตยาฟาวิฯแบบเม็ดได้ปกติ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมได้ออกคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ดของบริษัทผลิตยาจากญี่ปุ่นเมื่อเดือนพ.ค.64 ไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทดังกล่าว ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธของกรมต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ทันเส้นตายใน 60 วันหลังจากออกคำสั่งปฏิเสธ
“แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ แต่ระหว่างนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือบริษัทยาสามัญรายอื่นๆ ของไทย ที่ต้องการผลิตยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ด เพื่อใช้ในประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ไม่ต้องหยุดการผลิต เพราะ ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ดในประเทศไทย ส่วนหลังจากนี้ ต้องรอการพิจารณาคณะกรรมการสิทธิบัตร ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาไม่นาน”
อ่านข่าว-เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตยาจากญี่ปุ่นได้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์แบบเม็ดต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อเดือนก.ย.60 แต่หลังจากที่กรมได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า สิทธิบัตรดังกล่าวไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขการได้รับสิทธิบัตร ที่จะต้องมีความใหม่ จึงได้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งได้ชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 แต่หลังจากกรม ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ชี้แจงเพิ่มเติมอย่างละเอียด รอบคอบ โดยสืบค้นจากฐานข้อมูลทั่วโลกแล้ว พบว่า ยังไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอีก จึงได้ปฏิเสธคำขอจดไปตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.64
อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำขอ สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธของกรมต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายใน 60 วัน ซึ่งผู้ยื่นคำขอได้ยื่นอุทธรณ์ทันกำหนด ทำให้หลังจากนี้ คณะกรรมการสิทธิบัตร จะต้องพิจารณาว่าจะเห็นด้วยตามที่อุทธรณ์หรือไม่ หากไม่เห็นด้วย และกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่รับจดสิทธิบัตรให้ ผู้ยื่นคำขอ สามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้
ทั้งนี้ หลังจากที่กรมได้ปฏิเสธคำขอไปแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบัน ไม่มีใครในประเทศไทย เป็นเจ้าของสูตรโครงสร้างสารออกฤทธิ์ของยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟาวิพาราเวียร์แบบเม็ดเลย และไม่มีใครมีสิทธิผูกขาดการผลิต ดังนั้น อภ. หรือบริษัทยา สามารถเดินหน้าผลิตยาชนิดนี้แบบเม็ดได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-1
สำหรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์มี 2 ฉบับหลักๆ คือ ฉบับแรก เกี่ยวกับโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักของยา ซึ่งไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทย แต่มีสิทธิบัตรอยู่ทั่วโลก และหมดอายุความคุ้มครองตั้งแต่เดือนส.ค.62 ดังนั้น ผู้ผลิตยาสามารถนำสูตรโครงสร้างนี้ ไปพัฒนาเป็นสูตรยาได้ ส่วนฉบับที่ 2 เป็นการขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด ที่บริษัทยาญี่ปุ่นยื่นคำขอจดในไทย แต่กรมได้ปฏิเสธคำขอ ตามมาตรา 5(2) และมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เพราะไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น