สธ.ยืนยันไม่มีเงินทอน'วัคซีนโควิด-19' จัดหาโปร่งใส ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน

สธ.ยืนยันไม่มีเงินทอน'วัคซีนโควิด-19' จัดหาโปร่งใส ขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน

สธ.ยืนยันไม่มีเรื่องเงินทอน 'วัคซีนโควิด-19' ย้ำโปร่งใสในการจัดหา ทุกวัคซีนในไทยมีประสิทธิภาพ พร้อมขอคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน

วันนี้ (4 ก.ย.2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค   แถลงข่าวประเด็น ‘ยืนยันประสิทธิผลวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศไทย’ ว่า สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 ในทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งที่ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนไปจำนวนมาก ดังนั้น วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้ควบคุมโรค แต่ถ้าไม่มีมาตรการอื่นๆ มาช่วยเสริมก็จะทำให้การควบคุมการระบาดได้ไม่ดีเท่าที่ควร

  • ไทยฉีด'วัคซีนโควิด-19' ครบ 2 เข็ม 13.5%

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,942 ราย และเสียชีวิต 257ราย ถือว่าอยู่ในแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องระมัดระวังและต้องติดตามการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน และผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องรับวัคซีน ขอให้ไปรับวัคซีน

ตลอดในช่วง 1เดือนที่ผ่านมาขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในส่วนกทม.ยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

163073819620

สำหรับ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ ฉีดไปแล้ว 35,218,164 โดส  แบ่งเป็นเข็มที่ 1 24,918,054  รายและเข็มที่ 2 จำนวน 9,698,842 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 601,268 ราย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็มแล้ว จำนวน 24,918,054 หรือ 34.6% ขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน9,698,842 ราย หรือ 13.5%

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป ขณะนี้ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 5,184,819 ราย หรือ 47.5% ซึ่งมีบางจังหวัดฉีดได้จำนวนมาก เกิน 50% ของประชากรในพื้นที่ ได้แก่ กทม. 98% ปทุมธานี 65.2% สมุทรสาคร 63.2% ฉะเชิงเทรา 62.6% ชลบุรี 59.7% สมุทรปราการ 60.2% สงขลา 57.3%

  • ยืนยันไม่มีเรื่องเงินทอน 'วัคซีนโควิด-19'

ขอยืนยันว่าขณะนี้ฉีดไปแล้ว 35 ล้านโดส ยังไม่มีรายได้ที่เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ซึ่งภาพรวมของการติดเชื้อในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลง แต่ต้องคงมาตรการเฝ้าระวังควบคุม โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล อยากให้ทุกคนป้องกันตนเองสูงสุดในทุกที่ทุกเวลา เพราะถึงจะมีมาตรการผ่อนคลาย เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างการผ่อนคลายร้านอาหาร ขอให้เคร่งครัดทั้งเจ้าของสถานที่ และผู้มาใช้บริการ”นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดซื้อจัดหาวัคซีน ยืนยันว่าสธ.ไม่มีเรื่องเงินทอน ซึ่งวัคซีนในไทยทั้ง 3 ชนิดหลักๆ คือ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิดไวรัส เวคเตอร์  อย่าง ซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตายที่สธ.ได้จัดหามาตั้งแต่เดือนก.พ.2564 เป็นที่ทราบว่าราคาวัคซีน 17 เหรียญ แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 9 เหรียญ ถ้าเทียบกับวัคซีนชนิดเดียวกันเชื้อตาย จะเห็นว่าไทยสามารถซื้อได้ในราคาถูกกว่า 50% ขอยืนยันว่าไม่มีเงินทอนแน่นอน

163073822175

เช่นเดียวกัน ส่วน ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีน ชนิด mRNA ถ้าเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA อื่นๆ  ก็จะเห็นได้ว่า ราคาที่สธ.จัดหาจัดซื้อก็ราคาถูกกว่า 50% และ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ทำสัญญาจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน ราคาที่เราใช้จ่ายไป ซึ่งเป็นเงินของพี่น้องประชาชน ก็ราคาถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่เราสามารถจัดหาได้

  • ขอคนไทย อย่าด้อยค่าวัคซีนโควิด

สำหรับการทำสัญญานั้น วัคซีนทั้ง 3 ชนิด ได้มีการทำสัญญาจองมาตั้งแต่ปี 2563  ตั้งแต่การวิจัยยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งการลงนามในสัญญาเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย และเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  โดยการลงนามในสัญญาวัคซีนโควิด-19 จะมีข้อกำหนดทุกครั้งว่าต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในสัญญา 

163074220993

"ขอยืนยันในความโปร่งใสของสธ.ในการจัดหาวัคซีน ยืนยันประสิทธิภาพ ยืนยันความปลอดภัยในมาตรฐานสากล ดังนั้น ขอความกรุณาพี่น้องประชาชนคนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีนจนทำให้หลายคนกลัวการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนเพื่อประโยชน์ เพื่อชีวิตของพี่น้องคนไทย ขอเชิญชวนมารับวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่สธ. และรัฐบาลกำหนด" นพ.โอภาส กล่าว 

 

  • ย้ำประสิทธิภาพ 'วัคซีนโควิด-19'ในไทย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับประโยชน์การฉีดวัคซีนป่องกันโควิด -19 มีตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งทางจ.ภูเก็ตร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอข้อมูลรับนักท่องเที่ยว ตามโมเดล PHUKET SANDBOX  พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย.2564 มีจำนวนเที่ยวสะสม 333 เที่ยวบิน รับนักท่องเที่ยวสะสม 27,216 คน ผลการตรวจเชื้อสะสมเป็นลบ หรือ Negative 27,130 คน รอผลการตรวจ 1 คน พบผู้ติดเชื้อ 85 คน (0.31%) หรือ 300 คน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน  รักษาหายแล้ว 20 คน  

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาร่วมโครงการ PHUKET SANDBOX   (วันที่ 1ก.ค.-31 ส.ค.2564) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาทุกคน ยกเว้นเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งได้เดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง จะเห็นได้ว่าในข้อมูลที่มีความครบถ้วนที่ติดตามการตรวจ เป็นข้อมูล 2 เดือนเต็ม

โดยอัตราการติดเชื้อ จำแนกตามชนิดวัคซีน ใน 77 ราย ไม่ได้รับวัคซีน (เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี) 6 ราย พบว่า ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนโคซิวิว แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ และโมเดอรน่า อัตราการติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 0.3%

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่คนกลุ่มนี้ไม่มีใครป่วยหนัก หรือทำใหเกิดปัญหาการติดเชื้อ โดย73% จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ และ 26% จะเป็นกลุ่มที่แสดงอาการน้อย อีกทั้งส่วนใหญ่จะตรวจพบเชื้อใน 7 วันแรก หรือพบในวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย  

163073824060

มาตรการที่ PHUKET SANDBOX    กำหนดไว้ ถือเป็นมาตรการที่มีคุณภาพในการลดความเสี่ยง และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจในการท่องเที่ยวได้

ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนในจังหวัดภูเก็ต (ไม่รวม PHUKET SANDBOX) พบว่า ความครอบคลุมของวัคซีนอย่างน้อย  1 เข็ม มากถึง 86.11%  โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีน 93.4% ส่วนความครอบคลุมของวัคซีนครบ 2 เข็ม อยู่ที่ 76.32% มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 3,754 ราย ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 2,375 ราย (63.23%)

มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 12 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด และมีโรคประจำตัว 11 ราย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 1 ราย (ก่อนป่วย 46 วัน) ประวัติไม่ได้รับวัคซีน 11 ราย อยากเน้นย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์สูงในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต

  • ชี้ชัดแผนจัดหาวัคซีน ก.ย.นี้มา 15 ล้านโดส

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนแวค ถือเป็นวัคซีนที่ใช้มากในประเทศไทย ช่วงเดือนมี.ค. เป็นต้นมา เราทบทวนข้อมูลย้อนหลัง จะเห็นว่าการระบาดที่สมุทรสาคร ตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 มาจนถึงมี.ค.2564 สายพันธ์ G พบว่า ซิโนแวคปกป้องประชาชนและบุคลากร ลดป่วย/ลดตาย 90.5%  

ต่อมาเดือนเม.ย.-พ.ค.2564 สายพันธุ์อัลฟา ระบาดในกทม.และปริมณฑล ซิโนแวคช่วยบรรเทาการระบาดในพื้นที่ ลดป่วย/ลดตาย 90.7% 

มิ.ย.2564 สายพันธุ์อัลฟา ระบาดในรพ.เชียงราย ใช้ซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้า ช่วยปกป้องบุคลากรไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต 82.8%

มิ.ย.-ส.ค.2564 สายพันธุ์เดลตา ระบาดแทนสายพันธุ์อัลฟา ซิโนแวคประสิทธิภาพ 75% เปลี่ยนเป็นสูตรไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า สร้างภูมิคุ้มกันต้าน เดลตา ได้หลังฉีดเข็มสอง 2 สัปดาห์

163073825866

อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็มที่ 1 ซิโนแวค และเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ขณะนี้ได้ฉีดแล้ว 2.5 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิดเพียง 1 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขอัตราการตายที่ต่ำมาก เพราะตัวเลขของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน จะตายจากโควิดได้ถึง 132 คน เมื่อเทียบกับกรณีนี้ไม่ถึง 1 ในล้าน และใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า

จากการเก็บข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็มที่ 1 ซิโนแวค ตามด้วยเข็มที่ 2  แอสตร้าเซนเนก้า  มีประโยชน์อย่างมากในการระบาดช่วงสายพันธุ์เดลตา

สำหรับ แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในเดือนก.ย.คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ จะมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส โดย 3 วัคซีนหลักที่จะมีในประเทศไทย ได้แก่ ซิโนแวค 6 ล้านโดส  แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส และไฟเซอร์  2 ล้านโดส

เดือนต.ค. คาดว่าจะมีวัคซีนทั้งหมด 24 ล้านโดส ทั้งในส่วนของซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์  8 ล้านโดส 

ส่วนปลายปี เดือนพ.ย. และธ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาเดือนละ 23 ล้านโดส