'ซูเปอร์โพล' เผยปชช.ส่วนใหญ่มองศึกซักฟอกครั้งนี้ มีต่อรองอำนาจ
"ซูเปอร์โพล" เผยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้มีต่อรองอำนาจ หนุนปรับครม. เอาคนไม่มีผลงานออก
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ศึกอภิปรายฯ ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,146 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 – 5 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 เข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุ อภิปรายเรื่องเดิม ๆ ที่รู้อยู่แล้ว ใช้คำพูดเสียดสี หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชนและประเทศชาติ ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.1 ระบุ หลังได้ข้อมูลชี้แจงจากรัฐบาลทำให้เข้าใจและเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้น
เมื่อถามถึงเรื่องการเมืองในบรรยากาศศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 98.9 ระบุ พรรคร่วมรัฐบาลบางคนบางกลุ่มต้องการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 98.3 ระบุ คนในฝ่ายรัฐบาลไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อรองราคา และสมประโยชน์กัน ร้อยละ 98.2 ระบุ ส.ส.กลุ่มการเมืองใหม่ อภิปรายได้ดี มีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้คำหยาบคาย เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข
ที่น่าพิจารณาคือ ก้าวต่อไปของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 ระบุนำแนวทางสร้างสรรค์ จาก ส.ส. กลุ่มการเมืองใหม่ไปเร่งแก้วิกฤต ผลิกฟื้นเศรษฐกิจ สะสางปัญหาปากท้องของประชาชนและวิกฤตโควิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 98.3 ระบุ ปฏิรูประบบราชการ ไม่เอารัฐราชการแบบเก่า ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ร้อยละ 97.7 ระบุ บริหารจัดการวัคซีน จัดหาและกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 96.9 ระบุ ปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนรับรู้ข้อมูลถูกต้อง รวดเร็วมากขึ้น และร้อยละ 95.4 ระบุ หวังในการเปิดประเทศ ฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นการเร่งด่วน
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 เห็นด้วยต่อการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะต้องการให้ปรับคนไม่มีผลงาน ทำงานไม่ดี ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่โปร่งใสและมีปัญหาภาพลักษณ์ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 11.2 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 6.9 ไม่เห็นด้วย เพราะ ปรับไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ และอื่น ๆ เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจรัฐบาลมากขึ้นและยังเชื่อมั่นการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่ส่วนใหญ่เช่นกันต้องการให้รัฐบาลนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงการทำงาน ตอบสนองประชาชนในการแก้ปัญหาโควิดให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เชื่อมโยงระบบการกระจายวัคซีนและดูแลเข้าถึงประชาชนให้ทั่วถึงด้วยความรวดเร็วฉับไว และเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก ปลดล็อกทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณายิ่ง คือ ส่วนใหญ่ต้องการให้เร่งปฏิรูประบบราชการโดยผลสำรวจก่อนหน้านี้พบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนหัวหน้าส่วนราชการทุกระดับที่ไม่ตอบสนองประชาชนในการปรับย้ายใหญ่ปลายปีและไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารงานแบบรัฐราชการ ที่ไม่สามารถตอบสนองประชาชนในภาวะวิกฤตทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาล เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วแก่ประชาชนมากขึ้นเหมือนที่ให้ข้อมูลกับสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
“อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เบื่อหน่ายและไม่พอใจต่อการอภิปรายในสภาฯ ของ ส.ส.บางคนที่ไม่สร้างสรรค์ รับไม่ได้กับกลุ่มการเมืองเก่าที่มีพฤติกรรมใส่ร้าย ด่าทอ หยาบคายและให้ข้อมูลเท็จ เพื่อหวังผลสร้างความเกลียดชัง นำมาซึ่งความเสื่อมถอยของสภาผู้ทรงเกียรติ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งภายในพรรค รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านแม้เป็นเรื่องปกติ แต่รับไม่ได้กับการต่อรองที่ติดยึดกับอำนาจผลประโยชน์เฉพาะตนและพวกพ้องโดยไม่เห็นหัวประชาชน ถ้าไม่สยบจุดอ่อนของรัฐบาลนี้ได้ มันอาจจะพังกันทั้งประเทศเพราะเนื้อร้ายหรือหอกข้างแคร่ของรัฐบาลที่ถูกปล่อยไว้ให้กัดกร่อนรัฐบาลและอาจจะลุกลามไปยังเสาหลักของชาติอื่น ๆ ได้” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว