อัพเดต! 'สายพันธุ์โควิด'ที่เจาะเข้าไทยแล้ว

อัพเดต! 'สายพันธุ์โควิด'ที่เจาะเข้าไทยแล้ว

กรมวิทย์เผย’เดลตา’กินพื้นที่ไทย93 % ’มิว’ –‘C.1.2’ทั่วโลกยังเจอไม่มาก ข้อมูลยังไม่พอติด-แพร่เร็วขึ้น สันนิษฐานหลบภูมิต้านทาน ต้านวัคซีนต่ำ ส่วน‘เอวาย’สายพันธุ์ลูกเดลตาในไทย พบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ตั้งเป้าสุ่มตรวจกว่า 10,000 ตัวอย่างใน 4 เดือน

      เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 ก.ย.2564  ในการแถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิด 19  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  สัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจราว 1,500 ตัวอย่าง  พบว่า สายพันธุ์เดลตา ภาพรวมประเทศเป็น 93 %  เฉพาะกทม.   97.6 %  ภูมิภาค 84.8 %  สายพันธุ์อัลฟา ภาพรวมประเทศ 5 % เฉพาะกทม.   2.4 %  ภูมิภาค 9.5 % และสายพันธุ์เบตา ยังจำกัดวงที่ภาคใต้ตอนล่าง 5.7 ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีการตรวจโดยวิธีมาตรฐานRT-PCR  แล้ว 13 ล้านตัวอย่างที่มีการรายงาน หากรวมที่ไม่รายงานอาจจะถึง 15 ล้านตัวอย่าง ซึ่งถือว่าไม่น้อยโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดก็มีการตรวจเพิ่มมากขึ้น  อ่านข่าว-เปิดงานวิจัยวัคซีนไขว้แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์

       ในส่วนของวสายพันธุ์ก็เริ่มจากสายพันธุ์อู่ฮั่นซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทุกเจ้าใช้ผลิตวัคซีนในปัจจุบัน ต่อมาเป็นสายพันธุ์ จี จากกรณีสนามมวย สายพันธ์B.1.36.16 ที่จ.สมุทรสาคร สายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตาที่พบในประเทศไทยช่วงปลายพ.ค.และตอนนี้กำลังครองเมือง

   

      

 

 สำหรับในระดับโลก  องค์การอนามัยโลกหรือWHO  มีการจัดชั้นของการกลายพันธุ์เพราะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นตลอดเวลามากน้อย สำคัญไม่สำคัญ โดยเริ่มต้นจากVOI (Variants of Interest) หรือการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เช่น การกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่อาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพร่ได้ หรือการดื้อหลบวัคซีน หรือเริ่มมีความผิดปกติอะไรสักอย่างบางพื้นที่พบมากขึ้น กระทันหัน ปัจจุบันมี 5 ตัว คือ อีตา ไอโอตา แคปปา แลมบ์ดา  และมิว   

    ส่วนชั้นที่เป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวล VOC (Variants of Concern) ยังมี 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งในประเทศไทยเจอในประเทศ 3 สายพันธุ์ ส่วนแกมมาไม่พบ เคยเจอในสถานที่กักกันของรัฐแต่ควบคุมอยู่ไม่ได้หลุดออกไปภายนอก  โดย 4 ตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์ต่างกัน เช่น เดลตา แพร่เร็วมาก หลบภูมิวัคซีนนิดหน่อย เบตาและแกมมาหลบวัคซีนมาก แต่อำนาจแพร่เชื้อไม่สูง   โดยสรุปตัวมิวยังถูกจัดชั้นแค่เป็นส่วนที่น่าห่วงกังวลเท่านั้น ยังไม่น่าห่วงกังวลอะไร ส่วนC.1.2 ยังไม่ได้ถึงการจัดชั้นอะไรและไม่ได้ให้ชื่ออักษรกรีกด้วยซ้ำ  

  สายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่ถูกจัดชั้น แต่ได้รับความสนใจเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ พบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่มันเคยอยู่ในเบตา แกมมา เช่น E484K ซึ่งหลบภูมิคุ้มกันหรือดื้อวัคซีน หรือมีส่วนN501Y ที่เคยเจอในอัลฟาซึ่งทำให้แพร่เชื้อเร็ว เป็นต้น ดังนั้น การกลายพันธุ์ในหลายๆตำแหน่ง ทำให้ต้องจับตาดู ขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด โดยพบการระบาดมากที่สุดที่แอฟริกาใต้ 85 % ของการพบทั้งโลก อังกฤษ 5 % นิวซีแลนด์ 2 % สวิสเซอร์แลนด์ 2 % จีน 2 % โดยมีการรายงานเจอครั้งแรกเมื่อวันที่  11 พ.ค.2564 ที่แอฟริกาใต้  

    “สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องตื่นตระหนก เพราะว่ามีเพียง 3 %เท่านั้นในการระบาดที่แอฟริกาใต้  สายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเดลตา ยังไม่พบในประเทศไทย” นพ.ศุภกิจกล่าว  

      ส่วนสายพันธฺมิว(B.1.621) มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่น่าสนใจอาจจะมีการดื้วัคซีนหรืแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ เพียงแต่ทั่วโลก เจอน้อยมากราว 0.1 %  โดยเจอในอเมริกา 37 %ของที่เจอทั้งโลก โคลัมเบีย 13 %แต่เจอค่อนข้างมากในประเทศโคลัมเบียประมาณ 40 %  เม็กซิโก 13 % สเปน 11 % เอกวาดอร์ 6 % โดยรายงานครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย 11 ม.ค.2564

     “จะเห็นว่า แพร่เร็วขึ้นหรือไม่ ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยัน เทียบกับเดลตายังไม่ได้มาแบบรวดเร็วส่วนติดเชื้อง่าย ยังไมมีข้อมูลที่เพียงพอ หลบภูมิต้านทานจากการกลายพันธุ์สันนิษฐานว่าอาจจะมีปัญหา แต่วันนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าคนติดเชื้อแล้วกลับมาติดมิวมากน้อยแค่ไหน ต้านวัคซีนยังต่ำอยู่โดยรวมยังไม่น่าต้องน่าวิตกอะไร แต่ต้องตามดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”นพ.ศุภกิจกล่าว

      สายพันธุ์เอวาย ซึ่งเป็นลูกของเดลตา ที่เจอในประเทศไทย มีเอวาย 12 พบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในพื้นที่ต่างๆ แต่กำลังหารือกับ GISAID เพราะประเทศไทยใส่รหัสเอวาย 12 อาจจะไม่ถูกอาจจะเป็นเอวาย 30 จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน  แต่วันนี้ยังไม่ได้มีปัญหาอะไร การดูแลรักษาก็เหมือนเดิม ตามดูผู้ที่ติดเชื้อก็หายดี  ไม่น่าวิตกกังวลอะไร 

    นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยเราเฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละพันกว่าราย รวมการตรวจ RT-PCR และตรวจจีโนมทั้งตัว เดิมเราเคยกำหนดว่า กลุ่มที่มาจากต่างประเทศ อยู่ชายแดน บุคลากรการแพทย์ คนอาการหนักได้มีการตรวจกลุ่มนี้มากขึ้น และกระจายพื้นที่มากๆ หรือมีคลัสเตอร์แปลกๆโผล่ขึ้นมา ซึ่งการสุ่มตรวจแบบนั้นเป็นลักษณะหาของใหม่ที่จะหลุดเข้ามา แต่อาจไม่ได้บอกเป็นตัวแทนการติดเชื้อในไทย จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความชุกของไทย จากอดีตตรวจกรุงเทพฯมาก ตรวจต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องดักให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศได้

        ขณะนี้จะมีความร่วมมือกับม.สงขลานครินทร์ โดยจากนี้ถึงธันวาคม 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ะละพื้นที่ไปตรวจ อย่างวันนี้ก็จะให้ทางภูเก็ตตรวจเพิ่มขึ้น เพื่อให้รู้ว่าที่ภูเก็ตเอง มีเดลตากี่เปอร์เซนต์ โดยการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว มีที่กรมวิทย์ และเครือข่ายของเรา ทั้ง มอ. จุฬาฯ รามาฯ โดยกรมวิทย์ตรวจประมาณ 9 พันตัวอย่าง เครือข่ายอีก 4 พันตัวอย่าง จากนั้นจะมีการคอนเนคศูนย์ข้อมูลระดับโลก GISAID โดยจะรายงานทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น อย่าตกใจ