วุฒิสภา รับหลักการ ปลดล็อค ประชุมวุฒิสภา-กมธ.ทำกฎหมาย ผ่านระบบออนไลน์

วุฒิสภา รับหลักการ ปลดล็อค ประชุมวุฒิสภา-กมธ.ทำกฎหมาย ผ่านระบบออนไลน์

วุฒิสภา 165 ต่อ 5 รับหลักการ แก้ข้อบังคับวุฒิสภา ปลดล็อค ให้ประชุมออนไลน์ กับการประชุมวุฒิสภา, กมธ.กฎหมาย, กมธ.ตรวจสอบบุคคลพ้นตำแหน่ง

        ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ซึ่ง นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และคณะเป็นผู้เสนอ เพื่อปลดล็อคการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับการประชุมวุฒิสภา,กรรรมาธิการซึ่งพิจารณาร่างกฎหมายหรือข้อบังคับ และ กรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ หรือพิจารณาบุคคลให้พ้นจากตำแหน่ง

 

        ทั้งนี้นายสมชาย นำเสนอหลักการและเหตุผลตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19   ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของวุฒิสภา ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาให้ใช้การประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมกรรมาธิการได้ แต่ไมเ่พียงพอ ดังนั้นจึงเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้การประชุมวุฒิสภา และการประชุมกรรมาธิการและการทำงานของกรรมาธิการที่ทำหน้าที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงให้ความเห็นชอบบุคคลให้พ้นจากตำแหน่ง

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาก่อนรับหลักการนั้น มีส.ว.ทักท้วงเนื้อหาที่ปรับแก้ไข โดยเฉพาะการกำหนดบทบัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ที่กำหนดให้ต้องมีการเข้าร่วมประชุมและนับองค์ประชุมรวมถึงการลงมติที่ต้องกระทำเป็นการลับ ดังนั้นอาจมีกรณีที่ส.ว. ประชุมที่สนามกอล์ฟ หรือ ห้างสรรพสินค้าได้ และหากให้การประชุมวุฒิสภาหรือ กรรมาธิการซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ อาจมีปัญหาต่อความชอบของรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน

 

 

        ทั้งนี้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายทักท้วงว่า การแก้ไขเนื้อหาต้องไม่ขัดหลักการรัฐธรรมนุญหรือวิธีการนิติบัญญัติที่ออกโดยตัวแทนประชาชน หารือ ถกแถลงกัน หากใช้การประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ทราบตัวตนอาจมีปัญหาได้ ทั้งนี้การออกกฎหมายยอมรับว่ามีคนได้และเสียประโยชน์ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง การแก้ไขข้อบังคับวุฒิสภา ที่เปิดโอกาสให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และ ข้อบังคับทำในระบบออนไลน์ได้ อาจทำให้มีปัญหา แม้วาระแรกจะรับหลักการ แต่ประธานสภาฯ จะมีความกล้าอนุมัติให้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะการพิจารณาร่างกฎหมาย ข้อบังคับมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ทั้งนี้อาจมีปัญหาด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญได้

        “การกำหนดข้อบังคับใดควรยึดรัฐธรรมนูญ มาตรรา 120 ที่กำหนดว่า การประชุมสภาฯ และวุฒิสภาต้องมีสมาชิก มาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง  คือ ต้องมา และประกอบเป็นองค์ประชุม หากกำหนดให้อยู่คนละที่ต้องมีการลงมติ ซึ่งการลงมติเป้นเอกสิทธิ์ จะลงลับหลังคนหรือไม่ อาจเป็นการลงมติไม่ชอบได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยมีกรณีลงมติแทนกันได้”นายเสรี อภิปราย

 

        ซึ่งนายสมชาย ชี้แจงว่า เป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องพิจารณา ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าสมาชิกอาจประชุมที่สนามกอล์ฟ หรือ สถานอาบอบนวดนั้นตนเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของสมาชิก อย่างไรก็ดีการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 หากตีความทางกายภาพไม่สามารถทำได้ แต่การพิจารณาก่อนเสนอแก้ไขข้อบังคับได้พิจารณาตัวอย่างจากต่างประเทศ และ การประชุมผ่านระบบออนไลน์ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบว่ามีการออกพระราชกฤษฎีกาให้ทำงานได้ รวมถึงฝ่ายตุลาการสามารถประชุมผ่านออนไลน์ได้ โดยใช้คำสั่งของประธานศาล

 

        “หากทำเพื่อให้แก้ไข และอำนาจอยู่ที่ประธานวุฒิสภาจะกำหนดหลักเกณฑ์ และต้องมีเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจัดประชุมได้ ดังนั้นประธานวุฒิสภาจะพิจารณาจัดประชุมอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมและเพื่อประโยชน์ได้” นายสมชาย ชี้แจง

 

        หลังการอภิปรายที่ประชุมลงมติ เสียงข้างมาก  165 เสียงรับหลักการไว้พิจารณา ต่อ 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง  จากนั้นตั้งกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 23 คนพิจารณาเนื้อหา.