ผู้ว่าฯ โคราช เร่งแก้ปัญหาเปิดทางน้ำลำเชียงไกร หลังทะลักท่วมบ้านเรือน
ผู้ว่าฯ โคราช ลงพื้นที่เร่งแก้ปัญหาเปิดทางน้ำลำเชียงไกร หลังทะลักท่วมบ้านเรือน มั่นใจสถานการณ์น้ำยังควบคุมได้ ด้านชลประทาน แจงน้ำที่ออกจากอ่างลำเชียงไกร เป็นการปล่อยระบายชั่วคราว
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 ที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ชลประทานจังหวัด ปภ.จังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบัลลังก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมหารือบริหารจัดการน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง หลังจากปริมาณน้ำในอ่างฯ เต็มความจุ ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำภายในอ่างฯ และดูความคืบหน้าการก่อสร้างปรับปรุงประตูระบายน้ำของอ่างฯ
โดย นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวีดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและรับฟังการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งชลประทานจังหวัดฯ รวมทั้ง ทางอำเภอโนนไทย และเทศบาลตำบลบัลลังก์ สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำตามแผนการระบายน้ำที่วางเอาไว้ในกรณีที่อ่างเก็บน้ำมีความจุเต็มอ่าง โดยการระบายน้ำดังกล่าว ได้แจ้งเตือนชาวบ้านไว้แล้วเพื่อเตรียมรับมือ จะได้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เข้าใจและเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว นอกจากนี้ การระบายน้ำยังส่งผลดีต่อการเกษตรในพื้นที่ อ.โนนสูง อ.พิมาย ที่กำลังต้องการน้ำเช่นกัน และแม้ว่าการระบายจะต้ององให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่จะต้องเกิดผลกระทบน้อยที่สุดด้วย
อ่านข่าว : โคราช ปริมาณน้ำลำเชียงไกรเพิ่มต่อเนื่อง ไหลเข้าท่วมนาข้าวแล้วกว่า 100 ไร่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปีนี้ ไม่น่ากังวลเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าไม่มีพายุ มรสุม พัดเข้ามาติดต่อกัน สถานการณ์น้ำท่วมก็จะไม่รุนแรงขยายวงกว้าง แต่การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกอำเภอยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือด้วย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่เชิงเขา
ด้าน นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับประตูระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างที่มีการปรับปรุง เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำสูงได้อีก 1 เมตร หรือ ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจากกรมชลประทาน ปี 2563 ขณะนี้สถานการณ์น้ำภายในอ่างฯ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 27 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเต็มความจุของอ่างฯ จึงต้องมีการระบายน้ำออกจากอ่าง ที่อัตรา 17 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเป็นปริมาณปกติในการระบายออก แต่การระบายน้ำออก ทางอ่างฯ จะคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านท้ายอ่างเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ทางอ่างฯ ระบายน้ำออกไปทางระบายน้ำชั่วคราวที่ได้ทำขึ้นด้านข้างอ่าง เนื่องจากประตูกั้นน้ำหลักกำลังปรับปรุง และน้ำที่ไหลออก ก็ไม่ได้เกิดจากการล้นทะลักทางสันเขื่อนแต่อย่างใด ส่วนที่เห็นเป็นถนนอยู่ด้านล่างของสันเขื่อน จะมีน้ำจากทางระบายชั่วคราวด้านข้างอ่าง ไหลข้ามถนนเข้าสู่พื้นที่โล่ง จะไม่มีบ้านเรือนของชาวบ้าน ในขณะที่น้ำไหลจากทางระบายชั่วคราวของอ่างฯ ที่ไหลข้ามถนนใต้อ่างเก็บน้ำ เข้าสู่พื้นที่โล่ง ทำให้เกิดเป็นแอ่งน้ำและน้ำตกขนาดเล็ก มีประชาชนในพื้นที่ต่างพากันมาเล่นน้ำ-หาปลาบริเวณถนนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านในพื้นที่มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของทางอ่างฯ