ผู้ปกครองต้องรู้! ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ต้องเฝ้าระวังอะไรบ้าง?
แม้ขณะนี้จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปในกลุ่มเด็กเสี่ยงบางแล้ว แต่ในเดือนต.ค.นี้ จะมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กทั่วประเทศ ทำให้ผู้ปกครองเกิดความกังวล ความเป็นห่วงลูกหลาน
“วัคซีนไฟเซอร์” ที่ได้นำเข้ามาในเดือนก.ย.นี้ ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวเดียวในบรรดาวัคซีนทั้งหมดที่รัฐบาลจัดซื้อจัดหา เพื่อมาฉีดให้แก่ประชาชนที่สามารถฉีดให้แก่เด็กและวัยรุ่นได้
- ต.ค.นี้ ฉีดวัคซีนในเด็กทั่วประเทศ
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการฉีดให้แก่กลุ่มเด็กและวัยรุ่นไปบ้างแล้ว โดยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 5 ล้านคนทั้งประเทศ ขณะที่กรุงเทพมหานคร เตรียมฉีดให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสังกัดกรุงเทพมหานคร อายุตั้งแต่ 12 - 18 ปี
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 ศบค.ได้มีการเปิดแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น ในเดือนต.ค.นี้ จะมีวัคซีนทั้งหมด 24 ล้านโดส แบ่งเป็น เป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดสและไฟเซอร์ 8 ล้านโดส
โดยวัคซีนดังกล่าว ได้มีการนำมาพิจารณาจัดสรรแยกตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง กลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ทั้งประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กลุ่มที่จะได้รับวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.-31 ต.ค.2564
จะใช้สูตร ไฟเซอร์ 2 เข็ม ร้อยละ 20 ของจำนวนวัคซีนทั้งหมดในเดือนต.ค. หือ 4.8 ล้านโดส
- แนวทางการให้บริการฉีดวัคซีนในเด็ก
สำหรับการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 12-17 ปี ในประเทศไทย มีดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย นักเรียน/นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส. )หรือเทียบเท่า แบ่งเป็น 2 ระยะ
- ระยะแรก จัดสรรสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.)เทียบเท่า
- ระยะถัดไป จัดสรรวัคซีนสำหรับระดับชั้นอื่นๆ ที่เหลือ
- รูปแบบให้บริการฉีดวัคซีนในเด็ก
สำหรับรูปแบบการให้บริการ จะให้ผ่านสถาบันการศึกษา อาทิ
- โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดรัฐบาลและเอกชน
- สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
- โรงเรียนสอนศาสนา
- สถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เช่น โรงเรียนทหารเป็นต้น
ทั้งนี้ หากนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันการศึกษาดังกล่าวมีอายุเกิน 18 ปี ให้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้
- คำแนะนำฉีด “ไฟเซอร์’ ให้แก่เด็กไทย
ไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนชนิด mRNA มีชื่อทางการว่า BNT162b2 ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนโควิดรายที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศคำแนะนำเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้ ฉีด ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 15-18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
- ต่างประเทศ ฉีดวัคซีนในเด็กอย่างไร?
ข้อมูลจากบีบีซี ไทย รายงานว่าคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป
ขณะที่ รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล คาดว่าจะได้ข้อสรุปอีกไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลตัดสินใจให้วัคซีนคนกลุ่มอายุต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกันมาโดยตลอด แม้เด็กจะมีความเสี่ยงติดโควิด แต่โอกาสที่พวกเขาจะล้มป่วยหนักมีน้อยมาก นั่นหมายความว่าต้องเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนในการให้วัคซีนแก่พวกเขา
แต่เหตุผลสำคัญที่ทางการยังลังเลคืออาการข้างเคียงหายากที่พบจากการฉีดวัคซีนอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยไฟเซอร์ขึ้นแท่นวัคซีนโควิดชนิดแรกที่ผ่านการอนุมัติเต็มรูปแบบ วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูกคืออะไร-ใกล้เป็นจริงแล้วหรือยัง สหราชอาณาจักรจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 16-17 ปีในเร็ววัน
- ผลข้างเคียงที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง
ผลงานวิจัยในต่างประเทศ ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน
ไม่มีวัคซีนหรือยาตัวไหนที่ปลอดภัย 100%
สถิติจากสหรัฐฯ พบว่าจำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้
แต่การติดโควิดก็ส่งผลต่อสุขภาพเด็กได้เหมือนกัน รวมถึงมีผลต่อหัวใจพวกเขาด้วย คำถามคือความเสี่ยงนั้นมากแค่ไหน แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะยาว
สหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้เด็กต่อ โดยตอนนี้ให้วัคซีนเด็กอายุ 12-15 มากกว่า 10 ล้านคนแล้ว โดยมั่นใจว่าความเสี่ยงจากโควิดมากกว่าความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงของวัคซีน และฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา อิสราเอล และไอร์แลนด์ ก็ทำตามเหมือนกัน
- พบ"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ในเด็กไทย
ขณะที่ในประเทศไทย หลังจากมีการซึ่งพบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่คณะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยเข้าข่ายอาการรุนแรงคือ "กลุ่มเนื้อหัวใจอักเสบ" สำหรับประเทศไทย พบแล้ว 1 ราย โดยเด็กชายอายุ 13 ปี มีภาวะโรคอ้วน แต่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทัน ปัจจุบัน หายเป็นปกติแล้ว
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า รายงานอุบัติการณ์ของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนแต่ส่วนใหญ่พบใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ)
นอกจากนี้ยังพบ ในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ซึ่งพบในเพศชาย (12-17 ปี) มีอัตราการเกิดสูงสุด ในผู้ชายมีอัตราการเกิด 32.4 ต่อ 1 ล้านโดส ผู้หญิง 4.2 ต่อ 1 ล้านโดส กลุ่มรองลงมาที่พบ คือ อายุ 18-24 ปี และจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ
การวินิจฉัย ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้า เอกเรย์ปอด ตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac troponin) เมื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วสงสัยกล้ามหัวใจอักเสบ แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อประมินการทำงานของหัวใจ
การรักษา แบบประคับประคอง ด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านการอักเสบ (NsAIDs) อัตราการเกิดยาสเตียรอยด์ (Prednisolone) รวมถึงยา Colchicine ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม กรณีมีประวัติ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนฉีดวัคซีนชนิด mRNA
- ซิโนฟาร์ม ฉีดในเด็กอายุ 10-18 ปี
ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Nithi Mahanonda โดยระบุว่า ประกาศรายชื่อสถานศึกษา ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มในโครงการ “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีนบริจาค “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี เพื่อติดตามศึกษาผลของวัคซีนและการกลับคืนสู่การศึกษาปกติอย่างเป็นระบบ
โดยโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรร มีทั้งหมด 43 โรงเรียน ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะทยอยจัดส่งอีเมลถึงผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียน เพื่อแจ้งชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านสำหรับล็อกอินเข้าระบบที่เว็บไซต์ https://vaccine.cra.ac.th กดเมนู “ลงทะเบียนองค์กรผู้ได้รับการจัดสรรวัคซีน” เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ สามารถเริ่มนัดฉีดวัคซีนให้กลุ่มนักเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนใหม่
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ดังนั้น ผู้ปกครอง จะต้องการพิจารณาถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนโควิดให้กับเด็กและวัยรุ่นเหมือนกับการพิจารณาในผู้ใหญ่ ต้องดูทั้งประโยชน์ และความเสี่ยง ที่ลูกหลานจะได้รับ
อ้างอิง:บีบีซี ไทย ,ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, กรมควบคุมโรค