เปิดศึก 3 ด้าน กทม. ผ่าแผนรับมือน้ำท่วมกรุง!
เปิดแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่หน่วยงาน กทม.เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังช่วงฤดูฝน ป้องกันพื้นที่เมืองหลวงไม่ให้ ซ้ำรอย "มหาอุทกภัยปี 2554" เกิดขึ้นอีกครั้ง
จากคำพยากรณ์อากาศ "กรมอุตุนิยมวิทยา" ประกาศเตือนร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากพายุดีเปรสชั่น “โกนเซิน” บริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง โดยจะมีผลกระทบต่อหลายจังหวัดประเทศไทยในหลายพื้นที่
ถึงแม้การคาดการณ์ดีเปรสชั่น “โกนเซิน” จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แต่หน่วยงาน กทม.กำลังเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของพายุ เพื่อเตรียมพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ภายหลัง "กรมอุตุนิยมวิทยา" แจ้งเตือนในกรุงเทพฯ จะมีฝนตก 60-40% จนถึงวันที่ 16 ก.ย.นี้
สำหรับลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ "ลุ่มต่ำ" แอ่งก้นกระทะ ทำให้กรุงเทพฯ มีปัจจัยเสี่ยงถูกน้ำท่วมจากขีดความสามารถ "ระบบระบายน้ำ" กทม.รองรับปริมาณฝนตกสะสมใน 1 วันได้ไม่เกิน 80 มิลลิเมตร หรือปริมาณความเข้มฝนไม่เกิน 58.70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่หากปริมาณฝน "เกินกว่าระบบ" ป้องกัน จะมีปัญหาน้ำท่วมตามความรุนแรงปริมาณฝนที่เกิดขึ้น
"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูลจาก "สำนักการระบายน้ำ" กทม.ได้วิเคราะห์ 3 ปัจจัยหลักทำให้กรุงเทพฯ อยู่ในภาวะเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมได้ ดังนี้
1.น้ำฝน เป็นสาเหตุหลักทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ทุกปี ที่ผ่านมา กทม.ได้ใช้หลักการวิศวกรรมมาช่วยการระบายน้ำโดยสร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) เพิ่มจากท่อระบายน้ำเดิม ให้ระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยงและเฝ้าระวังน้ำท่วม ไหลลงสู่พื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) ให้เร็วขึ้น ก่อนจะไหลลงอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา
2.น้ำเหนือ ในช่วงฤดูฝนของทุกปี ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป ตั้งแต่นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทองอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี จะมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองสายหลักทางฝั่งตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองต่างๆ มีระดับสูงขึ้นจนล้นเข้าท่วมพื้นที่
กทม.ได้สร้าง "แนวป้องกันน้ำล้นตลิ่ง" ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำ และสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นบริเวณปากคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันไม่ให้ "น้ำไหลย้อน" กลับเข้ามายังระบบคลอง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ช่วยสูบน้ำออกให้เร็วมากขึ้น
3.น้ำหนุน เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ "น้ำขึ้น-น้ำลง" ในทะเล โดยเมื่อมี "น้ำขึ้น" น้ำในทะเลจะดันให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นตามไปด้วย จึงมีโอกาสที่น้ำจะไหลย้อนกลับเข้ามายังระบบคลอง และเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.-ธ.ค.จะมีระดับน้ำหนุนสูงสุดของทุกปี
ที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กทม.ได้เร่งก่อสร้างแนวทางป้องกัน "น้ำทะเลหนุน" ตามแนวป้องกันน้ำล้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวประมาณ 78 กิโลเมตร และเตรียมกระสอบทราย สำหรับเรียงตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 2.3 ล้านใบ รวมถึงปรับ "ประตูระบายน้ำ" ปิดกั้นป้องกันน้ำที่น้ำไหลเข้าพื้นที่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ช่วยสูบน้ำออกให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
จาก 3 ปัจจัยหลักทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงต่อน้ำท่วม "อัศวิน ขวัญเมือง" ผู้ว่าฯ กทม.ประเมินปัจจัยจากฝนที่ตกหนัก แต่ กทม.ได้เตรียมรับมือป้องกัน โดยในปี 2564 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 51 จุด (อ่าน : เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร) และในปี 2565 กทม.วางเป้าหมายลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้เหลือ 36 จุด
ขณะเดียวกันใน "แผนฉุกเฉิน" รองรับสถานการณ์น้ำท่วมใจกรุงเทพฯ กทม.ได้เตรียมแนวปฏิบัติไว้ 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1.ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝน โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงและประชาชนสามารถแจ้งปัญหาน้ำท่วมขังได้ที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง
2.เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงเกิดปัญหาน้ำท่วมทั้ง 12 จุดและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 51 จุด
3.ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนที่เตรียมไว้
4.เมื่อมีฝนตก "ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม" จะแจ้งอัพเดทสถานการณ์ให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio และแจ้งเตือนสำนักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย "อัมรินทร์" พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ปภ. ทหาร ตำรวจสื่อมวลชน) ผ่านกลุ่ม Line "เตือนภัยน้ำท่วม กทม."
5.ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำและแก้ปัญหาจราจร
6.เจ้าหน้าที่ภาคสนาม ลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ "ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม"
7.ประสานงานขอสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร ส่วนทหารช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้
8.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน "จุดวิกฤติ" โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม
9."ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม" รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ ให้สรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ และช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่หากเกิด "เหตุฉุกเฉิน" กทม.จะจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์
ทั้งหมดเป็นแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่หน่วยงาน กทม.เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันพื้นที่เมืองหลวงไม่ให้เหตุการณ์ "มหาอุทกภัยปี 2554" กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง.