ชลน่าน ประเมินความพยายามส่งศาลรธน. ของ "พรรคเล็ก" จะยุติที่ "รัฐสภา"

ชลน่าน ประเมินความพยายามส่งศาลรธน. ของ "พรรคเล็ก"  จะยุติที่ "รัฐสภา"

นพ.ชลน่าน ประเมิน พรรคเล็ก ส่งศาลรธน. ปมรัฐสภาแก้รธน. ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ไปไม่ถึงศาล และจบชั้นรัฐสภา ชี้ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้แบบ MMP ไม่ได้ เหตุจะแย้งกับรธน.ม.91

         นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ... (แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา กล่าวต่อกรณีที่พรรคเล็กยังมีความพยายามยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ว่า เชื่อว่าพรรคเล็กจะใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ต่อประเด็นปัญหาการทำหน้าที่ของรัฐสภา ด้วยการเข้าชื่อ 40 คน เสนอเป็นญัตติให้รัฐสภาลงมติว่าจะเห็นชอบส่งไเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสภาจะลงมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ผ่านวาระสามแล้ว คงไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดสงสัยในอำนาจและการทำหน้าที่ของตนเองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ

         นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามที่ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มาตรา 91 วรรคสองกำหนด ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่ายังสามารถกำหนดและออกแบบวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมี  หรือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวได้ โดยยอมรับว่าในประเด็นดังกล่าว กมธ.ได้ถกเถียงและหารือร่วมกัน และได้วางหลักการคำนวณนั้น คือ คะแนนของทุกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ จากนั้นให้แบ่งส.ส.ให้แต่ละพรรค ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง 

         “ที่มีคนตีความว่าจะเขียนหลักเกณฑ์คำนวณใช้แบบปันส่วนผสม เหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น อาจยกคำของรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ที่กำหนดส.ส.ของพรรคพึงมี หรือ ส.ส.ที่พรรคพึงได้รับ ผมมองว่าเป็นติ่งที่ไม่นำมาใช้ หากใครตีความว่าต้องไปเขียนการคำนวณแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เชื่อว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าชอบด้วยมาตรา 91 หรือไม่แน่นอน” นพ.ชลน่าน กล่าว.