สภาฯ ถก ร่างพ.ร.บ.อุ้มหายฯ เตรียมลงมติรับหลักการพรุ่งนี้

สภาฯ ถก ร่างพ.ร.บ.อุ้มหายฯ เตรียมลงมติรับหลักการพรุ่งนี้

สภาฯ ถก ร่างพ.ร.บ.อุ้มหายฯ ส.ส.หนุนรับหลักการ ชี้ถึงเวลาต้องมีกฎหมายคุ้มครองประชาชน "ชวน" สั่งลงมติพรุ่งนี้

        ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ  และยังได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. ที่มีหลักการเดียวกัน ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.พรรคประชาชาติ และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

 

         โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงหลักการและเหตุผล ว่า สำหรับเนื้อหาสำคัญคือมุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดฐานทรมาน ในฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย  โดยกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายความผิดไว้ในทำนองเดียวกัน คือ เป็นการกระทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ และต้องมีวัตถุประสงค์อย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลที่ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม เพื่อลงโทษบุคคลที่ถูกทรมานอันเนื่องมาจากการกระทำของบุคคลนั้น หรือสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำการสิ่งใด เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกทรมานหรือบุคคลที่สาม และเพราะเหตุผลอื่นๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายยังกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีรมว.ยุติธรรม เป็นประธาน

          “กฎหมายฉบับนี้ยังมีการกำหนดอัตราโทษสำหรับความผิดฐานกระทำการทรมานและฐานกระทำให้บุคคลสูญหายไว้เท่ากัน และหากผลของการกระทำความผิดนั้นร้ายแรงขึ้น ผู้กระทำความผิดก็ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย คือ ผู้ทำผิดฐานกระทำการทรมานหรือความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายต้องวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 - 30 ปีหรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 3แสนบาท-1ล้านบาท และหากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โทษก็จะหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง” รมว.ยุติธรรม กล่าว

        จากนั้นส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุนหลักการของร่างกฎหมาย  

 

      นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ตนเห็นชอบที่จะรับหลักการทั้ง 4 ร่าง เพราะแต่ละร่างมีเนื้อหาที่ดีที่แตกต่างกัน โดยความจำเป็นที่เราต้องรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ก็เพราะ ถ้าช้ากว่านี้ นอกจากสูญหายแล้ว จะกลายเป็นเกิดการคลุมหัว อุ้มฆ่าตามมาในอนาคต กฎหมายนี้จะเป็นการป้องกัน และปราบปราบไม่ให้เกิดการทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งตนมองว่า การป้องกันถือเป็นเรื่องำคัญ เราต้องบันทึก และเปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ ส่วนการกำหนดบทลงโทษก็มีความสำคัญ ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม โดยจะอ้างสิ่งใดมายกเว้นความผิดไม่ได้ ทั้งนี้ ขอฝากให้ กมธ. นำหลัการที่ดีในแต่ละร่างไปปรับให้สอดรับกันด้วย

        ขณะที่ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งถึงสมัยที่ครอบครัวของตนเองหาศพหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำของชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปู่ของนางเพชรดาว ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ซึ่งต่อมาศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

 

         จากนั้น นายชวน ประธานในที่ประชุม ได้สั่งยุติการอภิปราย และให้ลงมติในวันที่ 16 กันยายน จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.48 น.