เปิดวิธีเช็ค "แบงก์ปลอม" ง่ายๆ ต้องดูให้ดีที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ"
เตือนภัย! การจับจ่ายในยุคเศรษฐกิจไม่ดีมีโอกาสที่จะเจอ "แบงก์ปลอม" ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูง ดังนั้นคนไทยควรรู้วิธีดู "ธนบัตรปลอม" โดยหนึ่งในวิธีสังเกตง่ายๆ แนะนำให้เช็คที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ" เป็นหลัก
ในยุคเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ใครที่จับจ่ายโดยใช้เงินสดต้องระวังให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะเจอ "แบงก์ปลอม" ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะธนบัตรราคาสูงอย่างธนบัตรราคา 500 บาท หรือ 1,000 บาท โดยหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้คุณรู้เท่าทันมิจฉาชีพแก๊งปลอมธนบัตร ก็คือ ต้องรู้จักสังเกตและแยกเงินจริงและเงินปลอมให้ออก
โดยทั่วไปวิธีสังเกต "ธนบัตรปลอม" มีอยู่หลายจุดสังเกตด้วยกัน แต่หากต้องการเช็คเร็วๆ ง่ายๆ แนะนำให้เช็คที่ "แถบสีในเนื้อกระดาษ" เป็นหลัก ซึ่งมีข้อมูลจาก "ธนาคารแห่งประเทศไทย" และ เพจ "ธนบัตรทุกเรื่อง" ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ดังนี้
วิธีสังเกต "แถบสีในเนื้อกระดาษ"
สำหรับแถบสีในเนื้อกระดาษ ก็คือ “แถบสีทอง” ที่เป็นเส้นตามแนวตั้งของธนบัตร วิธีแยกแบงก์จริงกับแบงก์ปลอม หากสังเกตตรงจุดนี้จะเช็คได้ง่ายที่สุด โดยหากเป็นธนบัตรของจริง ต้องมองเห็นแถบสีทองได้ในลักษณะดังนี้
- เมื่อดูธนบัตรในมุมปกติ จะมองเห็นแถบดังกล่าวเป็นเส้นประ แต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT”
- เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวได้
- แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
- แถบสีในธนบัตรแต่ละฉบับ จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันก็ได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา ตามระยะมาตรฐานกำหนด
อ่านข่าว : สุดช้ำ! แบงก์ปลอมว่อน ซ้ำเติมเศรษฐกิจแย่ โควิดระบาดหนัก
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีสังเกตแบบอื่นๆ มาให้ประชาชนได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วย ดังนี้
วิธีสังเกต "ลายพิมพ์เส้นนูน"
สิ่งที่ทำให้ธนบัตรจริงแตกต่างจาก "ธนบัตรปลอม" อีกอย่างหนึ่งก็คือ การพิมพ์ลายนูน เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึกและใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ
ทำให้เกิดภาพและลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัดมากกว่าปกติ ซึ่งเทคนิคนี้ ถูกนำมาใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษร และตัวเลขแจ้งชนิดราคา หากเป็นแบงก์ของจริง เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะต้องรู้สึกสะดุดที่ลวดลายนั้น
แบงก์ของจริง ต้องมี "ลายน้ำ"
ลายน้ำในธนบัตรของจริง เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ ที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากันจนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยจะเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทยที่โปร่งแสงเป็นพิเศษด้วย
วิธีสังเกต "ภาพซ้อนทับ" และ "ตัวเลขแฝง"
ข้อสังเกตถัดมาคือ หากเป็นธนบัตรของจริงจะต้องมี "ภาพซ้อนทับ" โดยเกิดจากเครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพทั้งสองด้านได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ลวดลายที่ออกแบบไว้ ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบกันขึ้นเป็นลวดลายหรือภาพที่สมบูรณ์ สามารถสังเกตได้ด้วยการยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง
อีกทั้งต้องมี "ตัวเลขแฝง" ที่แจ้งชนิดราคา ซ่อนอยู่ในลายประดิษฐ์ ซึ่งจะมองเห็นได้ ก็ต่อเมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
แบงก์ของจริง ต้องมี "ลายดอกประดิษฐ์" เปลี่ยนสีได้
ลายดอกประดิษฐ์ ชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท บน "ธนบัตรของจริง" นั้น จะถูกพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติที่เปลี่ยนสีได้ ภายในมีตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวา จะเห็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี
ส่วนชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษเมื่อพลิกธนบัตรไปมาจะเห็นเป็นประกาย ลวดลายจัดเรียงกันในแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นเป็นสีเหลือบเหลือง
ถ้าเจอ "แบงก์ปลอม" ต้องทำไง?
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันยับยั้งธนบัตรปลอมด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
1. สังเกตทุกครั้งก่อนรับธนบัตร โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคาสูง
2. หากพบธนบัตรปลอม ห้ามนำธนบัตรปลอมออกไปใช้อีก เพราะมีความผิดตามกฎหมาย
3. ให้เขียนคำว่า "ปลอม" ลงบนธนบัตรเพื่อแยกแยะออกจากธนบัตรฉบับจริง แล้วนำไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำส่งเข้าระบบ
4. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ โดยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุด เช่น ได้รับมาอย่างไร จากใคร ที่ใด เป็นต้น รวมถึงจดจำลักษณะรูปพรรณและสิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับผู้นำมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลในการสืบสวนจับกุม
5. โทรศัพท์แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0 2356 7987
--------------------------
อ้างอิง :
ธนาคารแห่งประเทศไทย/แจ้งจับกุม