ชป. งัดแผนรับน้ำเข้าระบบ 2 ฝั่งเจ้าพระยา ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง
กรมชลประทาน งัดแผนใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำเข้าระบบ หวังลดระดับน้ำที่ล้นตลิ่งในตอนล่าง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำได้ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด จนกว่าจะหมดฝน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามความคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน ในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2564 นี้ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบางแห่ง ในทุกภาคของประเทศไทย
ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกล เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำยังจุดเสี่ยงต่างๆ และตรวจสอบสภาพของอาคารชลประทานให้อยู่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และหาแนวทางเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากนี้สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้วหน้าต่อไป ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อ่านข่าว : ระดับน้ำที่ อ.เสนา จ.อยุธยา เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ชป.เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงบริเวณ จ.กำแพงเพชร ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำปิงมากขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 1,808 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 4.14 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อนจะไหลหลากลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งมีการปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ 1,400 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของประชาชน ด้วยการจัดจราจรน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง(คลองชัยนาท-ป่าสัก , คลองชัยนาท-อยุธยา ,คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และเเม่น้ำน้อย) ในอัตรารวมกัน 425 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการรับน้ำเข้าแม่น้ำลพบุรี และคลองบางแก้ว ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ในเขต อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะช่วยลดระดับน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งได้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปัจจุบัน(17 ก.ย. 64) 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,056 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 3,360 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 14,815 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกส่วนใหญ่ในขณะนี้ ยังคงอยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างฯ ทำให้จำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ตอนบน เพื่อสำรองไว้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ในช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน(17 ก.ย. 64) ปริมาณน้ำทางตอนบนที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.50 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,627 ลบ.ม./วินาที แนวน้ำโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงได้ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 1,287 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อยนอกคันกั้นน้ำ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลดลงตามไปด้วย
สำหรับในระยะต่อจากนี้ไป การควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะคงอัตราปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,200 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับ +15.50 ม.รทก.ถึง+16.00 ม.รทก. เพื่อรองรับน้ำจากตอนบนในกรณีที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่ง รวมถึงด้านท้ายเขื่อน สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำปากคลองบางแก้ว และประตูระบายน้ำปากแม่น้ำลพบุรี ซึ่งจะลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนในอัตราที่ลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2564 กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่า อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้า ระวังปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าจากตอนบน เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากปี 2564 กรมชลประทาน จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบต่อไป