ไขข้อข้องใจ ฉีดวัคซีน mRNA กับ เชื้อตาย ในเด็ก 12-17 ปี
เปิดข้อควรรู้สำหรับผู้ปกครอง ก่อนสมัครใจพาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนโควิด "mRNA" หรือ "เชื้อตาย" ให้กับเด็กไม่เกิน 18 ปี มีความปลอดภัยเพียงใด หรือมีผลข้างเคียงน่ากังวลหรือไม่
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทุกอย่างหยุดชะงักทั้งการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ รวมถึงการเรียนของเด็ก ๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์นานนับปี ความจำเป็นดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องได้ วัคซีนโควิด-19 จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้กลับไปยังโรงเรียนภายใต้ความปกติใหม่
ขณะนี้ ประเทศไทยทยอยเข้าสู่ช่วงระดมฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มอายุไม่เกิน 18 ปี แต่ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป เฉพาะชนิด mRNA โดยมี 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ขณะที่ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งต้องการให้บุตรหลานได้รับวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อตาย ซึ่งในไทยมี 2 ยี่ห้อที่ อย.รับรองแล้ว คือ ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
สำหรับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ เริ่มใช้ในวัคซีนโควิด-19 มาราว 1 ปี ยังไม่ทราบถึงผลการติดตามในระยะยาว และยังไม่เคยใช้เป็นแพลตฟอร์มในการผลิตวัคซีนเด็ก แต่หากผู้ปกครองประสงค์ให้เด็กรับวัคซีนชนิดนี้สามารถเข้ารับในช่วงเดือน ต.ค. ได้ทันที
เริ่มฉีด "เชื้อตาย" นำร่องให้เด็ก
วันที่ 20 ก.ย. เป็นวันแรกที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มโครงการศึกษาวิจัย “VACC 2 School” นำร่องฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ให้กับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10-18 ปี ที่อาคาร 9 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถ.แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยประเดิมฉีดให้นักเรียนจำนวน 2,000 คน
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการวิจัยในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับเด็กอายุระหว่าง 10-18 ปีนี้ มีการศึกษาในต่างประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ทำโครงการวิจัย ซึ่งผ่านคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เองแล้ว
ผลข้างเคียง "ซิโนฟาร์ม" ในเด็ก
สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็ก ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ทราบกันอยู่แล้วว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย มีการใช้กันมานานในวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ทั้งไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ พิษสุนัขบ้า เป็นต้น ซึ่งความปลอดภัยสูงมาก อาการข้างเคียงก็ต่ำ เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ความรุนแรงต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะนำมาใช้ในเด็กมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีความปลอดภัย ไม่พบอาการข้างเคียงในเด็กมากนัก เบื้องต้นมี ชิลี ศรีลังกา จีน และยูเออี พบอาการข้างเคียง 0.2 %
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนการพิจารณากระตุ้นเข็ม 3 ในเด็กขึ้นอยู่กับการระบาดจากนี้ในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ส่วนการนับวัคซีนในโครงการของราชวิทยาลัย คาดว่าจะมีเด็กรับวัคซีนรวม 108,000 คน โดยส่วนใหญ่ของการรับวัคซีนนี้ทีทั้งเด็กมัธยมต้น และมัธยมปลาย ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในโรงเรียน
ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้ "ไฟเซอร์" กับเด็กเท่านั้น
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (ฉบับที่ 2) ว่า ข้อมูลตอนนี้มีเพียง "ไฟเซอร์" ที่ได้รับการขี้นทะเบียนให้ใช้ในเด็ก ชี้อายุ 16-18 ปีควรฉีดทุกคน ขณะที่ 12-15 ปี ควรฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางแนวทางในการฉีดวัคซีน "ไฟเซอร์" สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี ราว 4.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะเริ่มฉีด 4 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการเปิดเรียน ช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ แต่การฉีดวัคซีน ช่วยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เข้าเรียนได้ร่วมกับการเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
"ไฟเซอร์" กับผลข้างเคียงในเด็ก
ปกรัฐ หังสสูต อาจารย์ประจำหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อบุหัวใจในวัยเด็กจากการฉีดวัคซีน mRNA ผ่านทวิตเตอร์เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. มีปัญหาดังกล่าวจริง พบน้อยมาก มักเป็นโดส 2
2. มากน้อยแค่น้อยแค่ไหน 8.7 ใน Pfizer ล้านโดส ถึง 28.2 ใน Moderna ล้านโดส
3. ส่วนใหญ่อาการน้อยรักษาหาย
4. รัฐบาล Canada ยังแนะนำให่ฉีด วัคซีนโควิด รวมชนิด mRNA ทั้งอายุ 12 ปีขึ้นไป
5. (อ้างอิงที่มาข้อมูลข้อ 4) ที่มา: https://canada.ca/en/public-health/services/immunization/national-advisory-committee-on-immunization-naci/recommendations-use-covid-19-vaccines/mrna-adolescents.html
6. โรคโควิดเองทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กได้สูงกว่าอีก 480 รายในการติดเชื้อล้านคน
7. การตัดสินใจในนโยบายสำหรับเด็กยากแตกต่างไปในแต่ละประเทศ อเมริกาก็ตัดสินใจรวดเดียวเด็กอายุ 12-17 ปี ส่วนสหราชอาณาจักรอนุญาต 16-17 ปีก่อน หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ก็มาอนุญาตให้ 12-15 ฉีดได้ 1 เข็ม
8. ไม่ฉีดเด็กได้หรือไม่? ได้ครับ แต่เด็กป่วยและตายได้นะครับ แม้ว่าความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม ที่สำคัญติดเชื้อไม่ป่วยแล้วเอาเชื้อไปให้ในคนในครอบครัวได้อีกด้วย ดังนั้นเราจะควบคุมโรคให้ได้ แทบทุกคนต้องได้วัคซีน
9. การลดปริมาณวัคซีนลดผลข้างเคียงได้ไหม - รอผลวิจัยนะครับ มีคนทำอยู่
10. ก่อนเชื่อใคร ขอถามแหล่งอ้างอิงด้วย
ขณะที่ กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สะสม 869,811 โดส มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรคจาก 90 ราย คิดเป็น 10.35 ต่อแสนโดส เกี่ยวข้องกับวัคซีน กรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส หายเป็นปกติ เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน
สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA รายงานอุบัติการณ์การเกิดประมาณ 16 รายใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ส่วนใหญ่พบภายในที่ 7 วัน พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 เพศชายที่อายุ 12-17 ปีจะมีอัตราการเกิดสูงสุด
รองลงมาช่วงอายุ 18-24 ปี และผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ใจสั่น หากมีอาการภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีนควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
กรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA