โลกหลัง "โควิด-19" เด็กไม่จำเป็นต้องรีบเรียน เร่งจบ เน้นทำงานทักษะควบคู่

โลกหลัง "โควิด-19" เด็กไม่จำเป็นต้องรีบเรียน เร่งจบ เน้นทำงานทักษะควบคู่

ดร.กาญจนา ชี้โลกหลัง "โควิด-19" เด็กไม่จำเป็นต้องรีบเรียน เร่งจบ แต่ให้เน้นทำงานทักษะควบคู่ "โลกยุคใหม่" เด็กเลือกเรียนได้ตาม "ความถนัด" ทักษะดี ทำงานได้ ไม่ต้องมีใบปริญญา

ด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤต โควิด-19 ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนและผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดหลังจากนี้

 

ดร.กาญจนา วาณิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมพูดคุยผ่านคลับเฮาส์ในหัวข้อ “Upskilling / Reskilling” ซึ่งจัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยหรือ UNDP และสถาบันอนาคตไทยศึกษา

 

ดร.กาญจนา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าสู่ โลกดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรองรับในด้านต่าง ๆ ทั้งธุรกิจออนไลน์ มีการนำเอไอมาใช้เพื่อพูดคุยกับคนจริง มีการประชุมออนไลน์ เรียนออนไลน์ ซึ่งทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในยุคที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป

 

ดร.กาญจนา กล่าวว่า ใน "โลกยุคใหม่" เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ซอฟท์สกิล เพื่อสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ต้องทำงานกับนานาชาติมากขึ้น มีความฉลาดในการเข้าสังคมตามทันโลกในสื่อดิจิทัล มีความคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์การต่าง ๆ ในส่วนของผุ้สูงอายุก็ต้องมีทักษะ Unlearn-Relearn คือไม่ยึดติดกับวิธีการเดิม ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ให้เป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือและแนะนำผู้อี่นได้

 

ดังนั้น จึงต้องมาดูว่า เราจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัยใกล้เกษียณให้เป็น ผู้สูงอายุที่ยังแอคทีพ ยังมีคุณประโยชน์ เราควรส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ที่จะประกอบอาชีพ ใช้ชีวิต ทำประโยชน์ให้สังคม และดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีควาสุขทั้งร่างกายและจิตใจ

จากสถิติพบว่า คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้นอย่างน้อย 20 ปี อย่างคนที่อายุ 50 ปี ก็จะอยู่ได้ 80-90 ปี เด็กที่เกิดมาช่วงนี้ก็จะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี เพราะฉะนั้นการที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ควรเตรียมการตั้งแต่ก่อนสูงอายุ ก่อนเกษียณ ทั้งด้านสุขภาพ และการเงิน เราอาจต้องมาดูกลไกที่จะส่งเสริมผู้สูงอายุรูปแบบใหม่ ควรมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้

 

"และการคนเราอายุยืนขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งเรียนมัธยมให้จบภายในอายุ 17-18 ปี เพื่อต่อมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี เพื่อทำงานและรอวันเกษียณ รูปแบบนี้ มันอยู่ในระบบที่อายุขัยเฉลี่ย 70 ปี ถ้าจะอยู่ 100 ปี ในอนาคตเราควรจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่ต้องเร่งเรียนเร่งจบ อย่างใน อเมริกา ยุโรป พอจบมัธยมก็ออกไปค้นหาตัวเอง ไปทำงาน แล้วค่อยกลับมาเรียนปริญญาตรี มีสถิติของอเมริกาที่เด็กเรียนปริญญาตรี อายุเฉลี่ยประมาณ 21 ปี ในช่วงชีวิตของเราควรมีหลายอาชีพ ควรมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับทั้งระบบ” ดร.กาญจนา กล่าว

 

  • ส่งเสริมเด็ก ค้นหาตัวเอง

 

ต่อข้อถามที่ว่า รูปแบบการศึกษาแบบเดิม มีส่วนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราอาจต้องช่วยกันสนับสนุน คือ  เด็กในยุคปัจจุบันสามารถเรียนรู้โลกบนอินเทอร์เน็ตได้เร็วมาก หากได้รับคำแนะนำที่ดี และเลือกรับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับเขา ก็จะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เราอาจต้องเปลี่ยนระบบที่สอนให้ทำตามกรอบเดิม เป็นการพัฒนาระบบแนะแนวที่ดี ที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ สามารถค้นหาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจในการเรียน ให้เขามีกรอบการคิดแบบเติบโต (Growth mindset) คือการเรียนรู้ที่จะนำตัวเองได้ตามความถนัด ดึงความสนใจของเขาออกมา

 

โลกหลัง \"โควิด-19\" เด็กไม่จำเป็นต้องรีบเรียน เร่งจบ เน้นทำงานทักษะควบคู่

ครู ผู้ปกครองต้องเชื่อว่า เด็กมีศักยภาพที่ต่างกัน มีความต้องการความถนัดที่ต่างกัน ควรสร้างบรรยากาศให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ให้เขาสร้างแรงบันดาลใจด้วยตัวเขาเองเพราะจะเป็นทักษะที่ติดตัวเขาไปตลอด

 

  • Non Degree ความต้องการมากขึ้น

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยก็ต้องออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่หลากหลายและยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนออนไลน์ ปริมาณหลักสูตรต้องพอเหมาะ และตอบโจทย์ รองรับชีวิตแห่งอนาคตที่มีหลายขั้น หรือที่เรียกว่า Multistage Life การออกแบบแพลตฟอร์ม ต้องเข้าถึงได้ง่าย มีช่องทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และทิศทางในอนาคต คือไม่เน้นการเรียนรู้เพื่อให้ได้ ปริญญา รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ก็เน้นทักษะเป็นหลัก

 

การเรียนแบบ Non Degree จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนเข้ารับการอัพสกิล (Upskill) กันอยู่ตลอด ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เอง ก็เริ่มทำโครงการเครดิตแบงก์ เด็กที่เข้ามาเรียนสามารถสะสมเครดิตพอถึงจุดหนึ่ง ก็สามารถนำเครดิตที่สะสมไว้ เทียบเคียงกับปริญญา หรือ อนุปริญญาในสาขานั้น ๆ ได้ มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัว องค์ความรู้ข้ามศาสตร์ต่างๆ มีความจำเป็นมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตจะมี Gig Worker เพิ่มมากขึ้น

 

  • เสริมทักษะแรงงาน

 

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 การเตรียมกำลังแรงงานเพื่อเข้าสู่ตลาดงานต้องคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้แรงงานมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ โดยทักษะที่จะมีความจำเป็นสำหรับกำลังแรงงานและเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ อันเกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและความเข้าใจ เพื่อมาเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ

 

ทักษะด้านดิจิทัล การใช้ Social media เพื่อรองรับการทำธุรกิจออนไลน์ ทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ประชุมและการนำเสนองานผ่านออนไลน์ การใช้คลาวด์ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน ทักษะ soft skill อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ความสามารถในการยืดหยุ่นและการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงนวัตกรรม

 

  • ทักษะสำคัญโลกอนาคต

 

ส่วนทักษะที่สำคัญแห่ง โลกอนาคต ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในเชิงลึก ความฉลาดในการเข้าสังคม ความคิดแปลกใหม่และการประยุกต์ใช้ การทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ ความเข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล ความสามารถในการคิดออกแบบสร้างสรรค์งาน การจัดการบริหารการรับรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

  • ภาครัฐ ปรับบทบาท ส่งเสริม ผลักดัน

 

ภาครัฐ ควรปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดทำมาตรการส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ และควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เล่นที่อยู่ในส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่นมีอิสระและความคล่องตัวในการจัดเรียนรู้ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น

 

รวมถึงควรส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาดในการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น โดยระดับอุดมศึกษาควรมุ่งเน้นการสนับสนุนการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะที่มีการบูรณาการความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และส่งเสริมการจัดการศึกษาที่บูรณาการร่วมกับการทำงาน

 

เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของภาคธุรกิจจริง เช่น การฝึกงานระยะสั้น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) สหกิจศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานหรือการเป็นผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองความต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดงาน และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต

 

มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งต่อข้อมูลความต้องการด้านทักษะที่ตอบโจทย์สถานประกอบการสู่สถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาโดยการจัดทำมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการที่ร่วมลงทุน/ร่วมจัดการศึกษา เป็นต้น” ดร.กาญจนา กล่าว

 

  • ความเป็นไปได้ Future Skill Platform

 

รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะทำ Future Skill Platform ว่า เราอาจจะเริ่มนำมาทดลองทำได้ แต่อาจยังไม่เต็มรูปแบบเหมือนสิงคโปร์ที่เอาเงินเข้าบัญชีให้กับผู้เรียนแต่ละคน ได้เลือกเรียนหลักสูตรที่รัฐบาลรับรองตามความชอบความถนัดของตัวเอง สิ่งที่ กระทรวง อว. ทำอยู่ในขณะนี้ คือเราจัดเป็นคอร์สสั้น ๆ เป็นการรีสกิล (Reskill) หลักสูตรง่าย ๆ ช่วงแรกออกให้ฟรี ก็มีคนให้ความสนใจเรียนกันมาก

 

แต่ในส่วนของแรงงานทักษะสูงอย่าง Data Scientist มีความต้องการเยอะมาก เอกชนก็สะท้อนปัญหาว่าหาคนในประเทศไม่ได้ต้องไปหาจากต่างประเทศ สิ่งที่เราทำได้เวลานี้คือสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเข้ามาเรียน เพื่อให้เขากล้าที่จะเรียนสิ่งที่ยากขึ้นและออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง แต่ทั้งนี้เราต้องเชื่อมกับทางภาคเอกชนว่า ให้สร้างความมั่นใจให้กับเด็กว่าถ้าเขาได้มาเรียนแล้วมีงานรออยู่ เขายินดีที่จะเรียน แต่หากเรียนแล้วจบมาไม่มีงานทำ หรือหางานยากก็ไม่ค่อยมีใครอยากเรียน