คาด ต.ค.นี้ ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม "แพทย์"แนะวิธีรับมือโควิด -19

คาด ต.ค.นี้ ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม "แพทย์"แนะวิธีรับมือโควิด -19

ทีมแพทย์ ระบุผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 5% เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการหนัก ใน10,000 ราย จะเข้าห้องไอซียูประมาณ 500 ราย เผย 2 ปัจจัย ติดเชื้อระลอกใหม่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำฉีดวัคซีนโควิด ช่วยลดผู้ป่วยหนัก เสียชีวิตได้

วันนี้ (21 ก.ย.2564 )ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แถลงการณ์ ร่วมกับบริษัท โรช ไทยแลนด์แถลงข่าวออนไลน์ ในหัวข้อ"การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงบทบาทและความร่วมมือในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดตั้งขึ้นโดย ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อจะดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยในสังคม ซึ่งโควิด-19ได้เข้ามากระทบประเทศไทย กระทบคนจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงติดตาม และมีพระวินิจฉัย ให้คำแนะนำมาโดยตลอด

ศ.นพ.นิธิ กล่าวต่อว่าสิ่งหนึ่งที่ได้รับมาจากพระองค์ท่าน คือ การให้การรักษาโดยจะต้องมีวัคซีนป้องกัน ต้องมีการตรวจคัดกรองอย่างรวดเร็ว และมียารักษา ขณะนี้แม้จะไม่มียารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ แต่มียาหลายตัวที่สามารถใช้ได้ อย่าง ฟาวิพาริเวียร์ ซึ่งทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็ได้นำเข้ามาตั้งแต่ แต่ข้อจำกัดของยาเม็ดนั้น อาจทำให้เด็ก หรือผู้ใหญ่บางท่านไม่สามารถกลืนได้มีปัญหาในการให้ยา ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  จึงได้ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นพัฒนาตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้เด็กและผู้ป่วยบางท่านสามารถทานได้ เพราะต่อให้เด็กที่ป่วยโควิด-19 อาการไม่หนัก แต่การไม่มียารักษาก็ทำให้ลำบากเช่นกัน

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานในกำกับรัฐ เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการวางแผงต่างๆ จึงได้กำหนดให้ ราชวิทยาลัยจุฬาฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งในการไปจัดหา นำเข้า และกระจายวัคซีน ยาต่างๆ เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาด ป้องกันโควิด-19

 

  • พบผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 5%

ปัจจุบันแม้สถานการณ์โควิด-19 มีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ค่อนข้างลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้นทุกภาคส่วนก็ต้องปฎิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19  ขณะเดียวกันแพทย์  บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญยังคงเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ รวมถึงศึกษา วิจัย ค้นคว้าหาองค์ความรู้ และตัวยาใหม่ๆ เพื่อนำมาช่วยลดการแพร่ระบาดและป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา  แพทย์ทั้งด่านหน้า และไม่ใช่ด่านหน้า ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะมีผู้ป่วยรายใหม่จำนานมาก

ในบทบาทของอายุรแพทย์เป็นแพทย์ที่ต้องดูแลเกี่ยวกับระบบหายใจ  พบว่า การระบาดระลอกเดือนเม.ย.จนถึงมิ.ย. มีผู้ป่วยจำนวนมาก และพบผู้ป่วยปอดอักเสบ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการรับเข้าห้องไอซียูจำนวนมาก  โดยผู้ป่วยโควิด-19 จะเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ ประมาณ 5% ทำให้เกิดความตึงมือ และล้นมือของทีมแพทย์ ทำให้มีการมองหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ระบบสุขภาพของไทยอยู่ต่อไปได้

 

  • 2 ปัจจัยหลักเกิดโควิดระลอกห้าในไทย

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นข่าวการขยายพื้นที่ไอซียูในรพ.หลัก และรพ.สนาม เพื่อทำให้ผู้ป่วยอาการหนักได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ  ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มคนอายุไม่เยอะ ไม่มีโรคเรื้อรังจะอยู่ในห้องไอซียูประมาณ 7-10 วัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายู มีโรคเรื้อรัง จะต้องอยู่ในห้องไอซียูประมาณ10-30 วัน หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การดูแลรักษาไม่ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีการติดเชื้อโควิด-19 จะดีที่สุด เพราะหากกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ผลการรักษาไม่ค่อยดี และอาจจะทำให้อัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ต้องหาวิธีการร่วมกัน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ถ้ามีผู้ป่วยรายใหม่ จะทำอย่างไรให้การรักษาชะลอกลุ่มนี้ ไม่ให้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิดโควิด-19 ระลอกห้ามีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากนั้น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ซึ่งหากมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่วัคซีน ไม่สามารถใช้ได้ผล ก็จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ และ 2.นโยบาย-มาตรการต่างๆของภาครัฐ  ตอนนี้มีการผ่อนคลายมากขึ้น หากประชาชนมีการใช้ชีวิตปกติ และไม่ได้ปฎิบัติตามมาตรการของภาครัฐ หรือมาตรการควบคุมต่างๆ ไม่ได้ผล ทำให้การควบคุมจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้ มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นสูง ก็ทำให้ศักยภาพทางการแพทย์ของล้น และจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นได้

  • ต.ค.นี้ ผู้ป่วยโควิดอาจพุ่งขึ้น ฉี

ด้าน ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่าขณะนี้ถ้าแต่ละวันมีผู้ป่วยรายใหม่  10,000  รายจะพบผู้ป่วยปอดอักเสบต้องเข้าไอซียูประมาณ 500 ราย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำอย่างไรเพื่อลดปริมาณคนไข้ให้มากที่สุด ช่วงนี้มีคนไข้น้อยลงเป็นเสมือนช่วงเบรก แต่ถ้าเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้น  เปิดเมือง เปิดประเทศ ในเดือนต.ค.นี้ ก็อาจจะเห็นผู้ป่วยโควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้น แต่กราฟครั้งใหม่ อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งก่อนๆ เนื่องจากมีประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้ลดอาการหนัก หรือการเสียชีวิตได้  แต่อาจต้องลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้คนอยู่บ้านเหมือนเดิมมากขึ้น

“โควิด-19 เป็นการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ฉะนั้น ต่อให้รัฐบาลนโยบายดี แต่ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนไม่ปฎิบัติร่วมกันก็ไม่สามารถหยุดโควิด-19 ได้ และการปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ต้องยอมรับว่ามีรอยรั่ว เพราะเมื่อทำไปตลอด การล้า การไม่อยากทำอาจจะเกิดขึ้น การปฎิบัติอย่างไรก็มีรอยรั่ว เพราะมีการล้า แต่ถ้ามีการเพิ่มปริมาณการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถทำให้การป้องกันการติดเชื้อได้ ทั้งหมด แต่โอกาสที่จะมีอาการหนัก น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน” ผศ.นพ.กำธร กล่าว