กรมชลฯ ยันระบายน้ำ "เขื่อนเจ้าพระยา" ไม่กระทบ กทม.-นนทบุรี
กรมชลประทาน ยืนยันเปิดประตูระบายน้ำ "เขื่อนเจ้าพระยา" ไม่กระทบกรุงเทพมหานคร-นนทบุรี คาดวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย. 64) เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียง 0.25 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน
นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ และอุทกวิทยา กรมชลประทาน ชี้แจงว่า กรณีมีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่า "เขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว อีก 1 สัปดาห์จะถึงเมืองนนท์ คาด กทม.ไม่น่ารอด เตรียมป้องกันล่วงหน้าด้วย" ข้อความดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ปัจจุบัน (21 ก.ย. 64 เวลา 12.00 น.) กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 1,524 ลบ.ม./วินาที จะไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำ และอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่า ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย. 64) เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียง 0.25 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อ มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบัน สถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 1,547 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 12.00 น. มีเพียง 1,524 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับปริมาณน้ำทางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ เวลา 12.00 น. มีน้ำไหลผ่านเพียง 1,956 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับกรุงเทพมหานคร จะเริ่มได้รับผลกระทบ เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร ในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ในส่วนของกรณีที่มีการเปิดบานระบายทุกช่องของเขื่อนเจ้าพระยานั้น เป็นไปตามหลักการด้านชลศาสตร์ในการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา เป็นการรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของเขื่อน ซึ่งกรมชลประทานขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำระบายลงสู่พื้นที่ด้านล่างอยู่ในเกณฑ์ 1,524 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน และความมั่นคงของเขื่อนเจ้าพระยา
นายธีระพล ย้ำว่า กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมชลประทานตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา