“กรมพระศรีสวางควัฒนฯ” ทรงเปิดการประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 2/2564
“กรมพระศรีสวางควัฒนฯ” ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
วันนี้(23ก.ย.64) เวลา 13.30 น. ศ. ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงเป็นประธานเปิดการประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ในการนี้ กรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กราบทูลถวายรายงานการดำเนินงานต่าง ๆ ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมีระเบียบวาระการประชุมฯ อาทิ การรับรองรายงานการประชุมกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 1/2564 รายงานการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2564 และการพิจารณางบประมาณประจำปี 2565 เป็นต้น
“สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 ในพระดำริของ ศ. ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ทรงมุ่งหวังให้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการดำเนินงาน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ งานวิจัย งานวิชาการ และงานพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยปรากฏเป็นโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่ประชาชน และประเทศชาติ อาทิ
โครงการศึกษาและพัฒนาสมุนไพรเพื่อการวิจัยในหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 จังหวัดสระแก้ว หนึ่งในโครงการพระดำริที่ทรงวางรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรที่ยากไร้ มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน พร้อมจัดฝึกอบรมให้ความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถดำรงชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันหมู่บ้านทับทิมสยาม 05 ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายสมุนไพรอินทรีย์ที่สำคัญของประเทศ อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น ไพล เป็นต้น พร้อมทั้งมุ่งศึกษาวิจัย ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสำหรับใช้ในการรักษาโรค ซึ่งการดำเนินงานกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระกรุณาธิคุณขององค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์