"เพศศึกษา" ไทยก้าวหน้าหรือถอยหลัง เรื่องที่โรงเรียนอาจสอนไม่ครบ
ดราม่าร้อนระอุทั้งโซเซียลมีเดียตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อตำรวจเข้าจับกุม “น้องไข่เน่า” อดีตดาวOnlyFans นักศึกษาชั้นปี 2 อายุ 19 ปี กับแฟนหนุ่มวัย20ปี ถูกดำเนินคดีตามหมายจับในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
โดยร่วมกันทำ ผลิต มีไว้หรือนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใดๆ อันลามก เพื่อความประสงค์แห่งการค้า เพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงแก่ประชาชน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียง และตั้งคำถามมากมาย ว่าการถ่ายคลิปมีเซ็กส์กับแฟนลงในโซเซียลมีเดียถือเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล หรือผิดกฎหมายกันแน่ แล้วสามารถทำเป็นอาชีพได้หรือไม่ ทำไมหลายๆ คนถึงยอมเสียเงินมากมายเพื่อเข้าไปดู เพราะหากคลิ๊กไปใน OnlyFans และติดตามช่องใครก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
- แยกให้ออกระหว่างสิทธิส่วนตัวกับผิดกม.
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เล่าว่าจากกรณีที่เกิดขึ้นนั้น สะท้อนได้ในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับเพศวิถีของไทย ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ โดยแต่ละประเทศนั้นจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเพศแตกต่างกันออกไป ในประเทศไทยต้องดูว่าการมีเพศสัมพันธ์แล้วนำมาเปิดเผยอยู่ในรูปแบบของการแสวงหาผลประโยชน์ได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้เรื่องดังกล่าวไม่ได้เปิดกว้างเหมือนในต่างประเทศ จะเข้าข่ายภาพลามก อนาจารทำเพื่อการค้า กฎหมายถึงมือผิดแม้ว่าเจตนาจะเป็นแบบไหนก็ตาม มีการยินยอมหรือไม่ แบบไหนอย่างไร เจ้าหน้าที่บ้านเมือง
“ต้องแยกให้ออกระหว่างสิทธิส่วนตัว กับการผิดกฎหมาย ซึ่งหากถ่ายเก็บไว้ดูกันเอง ไม่ได้กระทบคนอื่น หรือทำให้เกิดผลกระทบตามมาก็อาจจะไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมายของไทย แต่ตอนนี้ถือว่าผิด ดังนั้น แม้ตอนนี้เรื่องเพศจะเปิดกว้างมากขึ้น และทุกคนเคารพ ความเสมอภาค แต่ความเป็นจริงยังมีการเลือกปฎิบัติ มีฐานอคติทางเพศ และกรณีข่มขืน รุมโทรมหลายๆ กรณีก็เกิดจากการดูภาพลามกอนาจารในโซเซียลมีเดีย และเป็นการกระตุ้นให้คนที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ไปข่มขืน หรือทำร้ายผู้อื่น”น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว
ประเด็นการข่มขืน การรุมโทรม และการหลอกไปกระทำอนาจาร มีเกิดขึ้นจำนวนมาก ยิ่งผู้คนสามารถติดต่อ พูดคุยผ่านสื่อออนไลน์ได้ง่ายขึ้น การนัดพบ การหลอกไปทำข่มขืนเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
- เรื่องเพศไม่มีถูกผิดขึ้นอยู่กับการอธิบาย
น.ส.สุเพ็ญศรี เล่าต่อว่าสังคมส่วนใหญ่ เมื่อมีข่าวเกิดขึ้นจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ กระทบกับอะไรบ้าง กระทบต่อความคิดของเด็ก กระทบต่อกฎหมาย เพราะต่อให้กฎหมายจะดีหรือไม่ แต่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย และในกรณีนี้มีการทำเป็นเสมือนอาชีพ มีรายได้ ทำให้เด็กหลายคนอาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ ดังนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายๆ หน่วยงานต้องสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และลดช่องทางที่นำไปสู่การกระตุ้นให้ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้กระทำ
เพศวิถีจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคำอธิบาย และเรื่องเพศไม่มีใครถูกใครผิด ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความเสมอภาคเท่ากัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน มีกฎหมายก็ต้องเคารพกฎหมาย ความชอบพอเมื่อใดก็ตามที่เราไปทำให้เกิดคนในกลุ่ม นำไปเผยแพร่ ประสบการณ์ของมูลนิธิไม่ว่าจะหญิงหรือชายล้วนนำไปสู่ปัญหาข่มขืน หรือความรุนแรงต่อร่างกายได้ เพราะความไม่เท่าทัน
"จากการทำงานกับคนรุ่นใหม่ จะไวต่อโซเซียล เขาคิดไปไกล แต่อาจจะไม่เห็นอันตราย เขาต้องมองอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเขาหรือไม่ โดยเฉพาะผู้หญิงจะไปไหนมาไหนขอให้บอกพ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวัง เพราะอันตรายด้วยความเป็นเพศ ขอให้ทุกคนดูแลตัวเอง”น.ส.สุเพ็ญศรี กล่าว
- พ.ค.64 ตั้งครรภ์ไม่พร้อมมากถึง 4,461 คน
ทั้งนี้ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 มีกลุ่มสตรีโทรมาขอรับบริการปรึกษาที่ 1663 เกี่ยวกับปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมมากถึง 4,461 คน หรือเฉลี่ย 149 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 26 คน มากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ อาทิ เดือนตุลาคม 2563 ที่มีผู้ขอรับคำปรึกษาเพียง 2,490 คน เฉลี่ย 83 คนต่อวัน และเป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 16 คน
สำหรับสถิติ ในปี 2562 กรมอนามัยพบว่า มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวน 63,831 ราย แบ่งเป็น หญิงช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี 61,651 ราย และผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ตั้งครรภ์จำนวน 2,180 ราย และยังพบว่ามีวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำอีกจำนวน 5,222 ราย
นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า ระยะเวลาเกือบ 2 ปีของสถานการณ์โควิด-19 และการ Lockdown ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงโดยเฉพาะในวัยรุ่น ในหลายด้าน ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงการคุมกำเนิด รวมถึงความสามารถในการวางแผนครอบครัว ดังจะเห็นได้จากสถิติการท้องไม่พร้อมมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“สถิติข้อมูลบริการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม มีผู้มาขอรับคำปรึกษาปัญหานี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและอาจกลายเป็นวิกฤตทางสังคมตามมา” นพ.พีระยุทธ กล่าว
- การสอนเพศศึกษาไทย ล้มเหลวหรือไม่?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 มีงานวิจัยว่าด้วยการทบทวนการสอนเพศวิถีในสถานศึกษาไทย ซึ่งสำรวจข้อมูลนักเรียนมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษากว่า 8,800 คน และครูกว่า 700 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่ง ระหว่างเดือน ก.ย. 2558 ถึงเดือน มี.ค. 2559
สิ่งที่พบคือ โรงเรียนไทยหลายแห่ง ยังมีปัญหาเรื่องสอนเพศวิถีศึกษาไม่รอบด้าน และเน้นหนักไปเรื่องพัฒนาการทางเพศเป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการให้ความสำคัญเรื่องการเคารพสิทธิ (โดยเฉพาะเรื่องเพศ) ของผู้อื่นเท่าที่ควร จนอาจส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงลบ และไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมและสิทธิทางเพศ
หนึ่งในสถิติที่พบคือ นักเรียนสายอาชีวะ 41% มองว่า สามีมีสิทธิ์ทุบตีภรรยาได้หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ ขณะเดียวกัน นักเรียนชาย 50% นักเรียนชาย ม.1-3 เชื่อการมี sex กับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด
- คู่มือสอนเพศศึกษาให้นักเรียนบูรณาการ
คู่มือการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตในนักเรียนแบบบูรณาการ จัดทำเพื่อให้ครู อาจารย์ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้รับผิดชอบงานเรื่องเพศศึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่น ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการสอนเรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตให้กับนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป
เนื่องจากปัจจุบันสังคมออนไลน์ทำให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อทางเพศศึกษาที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมายอาทิเช่นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์การป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
รวมทั้งการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัจจุบันมีหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษาที่หลากหลาย แต่อุปสรรคสำคัญของการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนมีหลายประการ เช่น เวลาเรียนไม่พอ เนื้อหาวิชาที่เรียนมีมากเกินไปไม่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ครูไม่กล้าสอนหรือขาดความมั่นใจในการสอนเพศศึกษา
คู่มือฉบับนี้ ได้บูรณาการเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตเข้าด้วยกัน โดยคัดเลือกเฉพาะประเด็นที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นในแต่ละระดับชั้นที่ควรรู้และรวมทุกระดับชั้นไว้ด้วยกัน เพราะบางโอกาสเด็กชั้นประถมศึกษาอาจต้องเรียนในหัวข้อของชั้นมัธยมศึกษา ตัวอย่างเช่น ในเรื่องการจัดการอารมณ์เพศและการป้องกันการตั้งครรภ์(ในกรณีที่เด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ) นอกจากนี้ยังได้จัดทำสื่อ animation ประกอบคู่มือฯ เพื่อช่วยในการสอน รวมถึงเนื้อหาประกอบการสอน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้คู่มือ สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
- เนื้อหาเน้นกิจกรรมกลุ่ม เรียนรู้ตามระดับชั้น
โดยในคู่มือนั้นจะแบ่งกิจกรรมชุดการเรียนรู้สอนเพศศึกษาตามระดับชั้น อาทิ ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) จะเรียนเกี่ยวกับ พัฒนาการทางเพศและสุขอนามัยทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ ทักษะส่วนบุคคล สัมพันธภาพระหว่างบุคคล สังคมและวัฒนธรรม และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศ ฝันเปียก การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ รู้เท่าอารมณ์ทางเพศ ทักษะการปฎิเสธ ความเชื่อที่ผิดในเรื่องเพศ
รวมถึงจะมีการสอนทักษะชีวิต มีกิจกรรมการแชร์ประสบการณ์ ปรับแนวคิด การทำความเข้าใจ คนเรามีความคิด 2 ด้าน ฝึกเทคนิคการคิดเป็น การให้คำปรึกษา รวมถึงมีสถานการณ์จำลอง
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษานั้นส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นความรู้เชิงกายภาพ โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือถกเถียงเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ การจัดการความสัมพันธ์และความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และการยับยั้งชั่งใจยังน้อยอยู่ รวมถึงครูที่สอนวิชาเพศศึกษาจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะหรือพัฒนาวิธีการสอนให้เหมาะสม