"อ่างลำเชียงไกร" น้ำไหลทะลัก เตือนปชช. 9 อำเภอ รีบขนของหนีมวลน้ำขึ้นที่สูง
ด่วน! "อ่างลำเชียงไกร" อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ตอนล่างกำแพงปีกด้านข้างถูกน้ำกัดเซาะ น้ำไหลทะลัก เตือนประชาชนใน 9 อำเภอ รีบขนของหนีมวลน้ำขึ้นที่สูง
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 กันยายน 2564 รายงานสถานการณ์ "อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร" ตอนล่าง ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ล่าสุด มวลน้ำเหนือสันอ่างเต็มพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 135 % เกินความจุกักเก็บ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำมากที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างอ่างเมื่อปี 2514
มวลน้ำฝนสะสมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน อ.ด่านขุนทด และ อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา สมทบมาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อาคารระบายน้ำล้นปกติ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างได้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะกำแพงปีกด้านขวาจนชำรุดทำให้มวลน้ำไหลทะลักออกมาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ชลประทานได้เตรียม “บิ๊กแบ็ค” หรือกระสอบทรายยักษ์ลงไปอุดรูรั่ว โดยรอให้กระแสน้ำไหลเบาลงกว่านี้
ทั้งนี้ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกคำสั่งด่วนที่สุดกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ที่ นม (กปภจ)0021/ 6177 ถึงนายอำเภอด่านขุนทด ,นายอำเภอโนนไทย ,นายอำเภอพระทองคำ ,นายอำเภอเมืองนครราชสีมา ,นายอำเภอโนนสูง ,นายอำเภอพิมาย ,นายอำเภอชุมพวง ,นายอำเภอลำทะเมนชัย และนายอำเภอเมืองยาง และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ว่า เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำเชียงไกร ตอนบน และลำน้ำสาขา
มีปริมาณเป็นจำนวนมาก และได้ระบายลงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จึงมีความจำเป็นต้องระบายเพิ่มลงลำน้ำเดิม 66.43 ลบ.ม. ระบายน้ำอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน101.72 ลบ.ม. รวมการระบายน้ำ 168.15 ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในลำเชียงไกร และลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งลำน้ำ และพื้นที่ริมตลิ่ง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ให้อำเภอด้านท้ายอ่าง รวม 9 อำเภอ แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้มโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง
2. ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชนให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทานเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่
3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูล ข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
4. กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน