"ศบค."ไฟเขียวเปิด ฟิตเนส เล่นดนตรีในร้าน ลดเคอร์ฟิว 4ทุ่ม-ตี4
"ประยุทธ์" นำถก "ศบค." ผ่อนปรนมาตรการ เพิ่ม เปิดฟิตเนส ให้เล่นดนตรีในร้านอาหาร ลดเวลา "เคอร์ฟิว" เป็น 4ทุ่ม-ตี4
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 15/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม มีมติผ่อนปรนมาตรการ ตามที่มีการเสนอเป็นส่วนใหญ่ อาทิ อนุญาตสถานประกอบการออกกำลังกาย หรือฟิตเนส ให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้
อนุญาตให้สามารถเล่นดนตรีในร้านอาหารได้ นอกจากนั้น ในส่วนของข้อกำหนดห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในเวลากลางคืน หรือเคอร์ฟิว จากเดิมกำหนดไว้ 21.00 -04.00 น. ให้ขยับไปเป็นเวลา 22.00-04.00 น.
อย่างไรก็ตาม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดรายละเอียด ถึงมติที่ประชุมว่า ได้เห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึง30 พฤศจิกายน นี้ ลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย นวด สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ เล่นดนตรีในร้านอาหารได้ตามปกติเริ่ม 1 ต.ค. นี้
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังคงต้องไม่ประมาท ยังต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึง ติดตามการกระจายเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็จะขยายรูปแบบ Sandbox ในส่วนกิจการ/กิจกรรมอื่น ๆ ให้มากขึ้นอาทิ ปรับกิจกรรมภายในโรงแรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการเปิดประเทศต่อไป นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ภาคแรงงานและภาคประชาชนได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด–19 มากขึ้น ภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ กระทรวงสาธารณสุขช่วยพิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมบันเทิง ศิลปินพื้นบ้าน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังดีใจที่ไทยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันได้เกิน 1 ล้านโดสมั่นใจไทยมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้บรรลุตามเป้าหมาย โดยฝากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแลการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับเด็กเล็กด้วย นายกรัฐมนตรียังรับทราบแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวต่างประเทศและแรงงานต่างด้าวโดยจะเริ่ม 1 ตุลาคม นี้
นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนการช่วงเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากการระบาดใหญ่ทั่วโลก หรือPandemic สู่โรคประจำถิ่น Endemic ซึ่งต้องขอให้แต่ละฝ่ายถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละช่วงของการแพร่ระบาด เพื่อเป็นแนวทางในการรองรับสถานการณ์ในอนาคตด้วย
ที่ประชุมมีมติสำคัญ ดังนี้
(1) เห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64
-เปิดกิจการ/กิจกรรม ดังนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ร้านทำเล็บ ร้านสัก สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด สปา) กีฬาในร่ม โรงภาพยนตร์ การเล่นดนตรีในร้านอาหาร
-ยังไม่เปิดดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ
-ลดเวลาห้ามออกจากเคหสถาน เป็น 22.00 -04.00 น. อย่างน้อย 15 วัน
-ขยายเวลาสำหรับกิจการ/กิจกรรม เปิดบริการได้ถึง 21.00 น. ได้แก่ ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อกีฬากลางแจ้งหรือในร่มเป็นที่โล่ง กีฬากลางแจ้งมีผู้ชมได้ ร้อยละ 25
(2) การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร
-โดยปรับลดระยะเวลาในการกักกันสำหรับผู้มีเอกสารวัคซีนโควิด-19 ครบ เหลือ 7 วัน ในส่วนผู้ที่ยังไม่มีเอกสารวัคซีน ให้กักตัว ตั้งแต่ 10 -14 วัน สำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศกักตัว 7 วัน ทางน้ำและทางบก กักตัว 10 -14 วัน อนุญาตให้ทำกิจกรรมในสถานที่กักกันฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
-เปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงันเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เขาหลัก เกาะยาว จ.พังงา และ เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก จ.กระบี่ และแนวทางเปิดพื้นที่เพิ่มเติม 10 จังหวัด เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี(ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง เกาะพยาม จ.เชียงใหม่ (อ. เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง)
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน คณะที่ปรึกษา ที่ร่วมกันทำทำงานหนักมาตลอดระยะ 2 ปี ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญและเห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย และการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทั้งภายในปี 2564 และต่อเนื่องสำหรับการจัดหาวัคซีนในปี 2565 ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของเราทุกคน เพื่อร่วมกันเดินหน้า พลิกโฉมประเทศไทย