"ผบ.ทบ." ระดม กำลังพล-ยุทโธปกรณ์ รับมือน้ำท่วม คาดระดับน้ำเพิ่มมากถึง พ.ย.
"ผบ.ทบ." เรียกประชุม กางแผนรับมือน้ำท่วม ภายใต้มาตรการป้องกัน "โควิด-19" สั่งระดม กำลังพล-ยุทโธปกรณ์ ช่วยเหลือประชาชนทันสถานการณ์ คาดปริมาณน้ำเพิ่มระดับจนถึง พ.ย.
27 ก.ย. 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เรียกประชุมด้วยระบบออนไลน์กับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทุกกองทัพภาคเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์อุทกภัย และการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทัพบกส่วนกลางไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะการระดมทรัพยากร และยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกเพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มศักยภาพอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ทุกกองทัพภาคประสานงานร่วมกับทุกภาคส่วน เตรียมแผนรับมืออุทกภัยไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะประเมินว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้นไปจนถึงเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งการเตรียมการที่รัดกุม ทันต่อสถานการณ์ จะทำให้การดูแลประชาชนของกองทัพบกเป็นไปอย่างทั่วถึง และตรงตามนโยบายของรัฐบาล
การเรียกประชุมในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ขอบคุณทุกหน่วยที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างทุ่มเท กำชับให้กําลังพลที่ปฏิบัติงานต้องตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้ประสบภัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วย ผู้พิการ หรือคนชรา ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ย้ำให้หน่วยจัดลำดับพื้นที่ในการช่วยเหลือ จัดสรรกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ไหนที่คลี่คลายแล้ว ให้เร่งทำการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว การทำงานทุกส่วนให้ประสานกับส่วนราชการอื่นๆ อย่างใกล้ชิด
ผบ.ทบ. สั่งระดมยุทโธปกรณ์เข้าดูแลประชาชน รับมือสถานการณ์น้ำ เน้นความปลอดภัยภายใต้มาตรการป้องกันโควิด
ที่สำคัญในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ระดมยุทโธปกรณ์จากหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกทุกหน่วย ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการช่วยเหลืออุทกภัยได้ โดยเฉพาะเครื่องมือช่างและยานพาหนะสายขนส่ง มาเพิ่มเติมให้กับหน่วยในพื้นที่น้ำท่วมได้ใช้งาน อาทิ สะพานเครื่องหนุนลอยพับได้แบบ 79A (Ribbon Bridge) จากกรมการทหารช่าง เพื่อจัดตั้งเป็นแพลอยน้ำขนาดใหญ่ เป็นตำบลรวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์
ในพื้นที่น้ำท่วมสูงเป็นบริเวณกว้าง, การสนับสนุนเรือยนต์ขนาดต่างๆ รวมทั้งเรืออลูมิเนียมพร้อมเครื่องยนต์ติดท้าย เข้าเสริมการขนย้ายคนและสิ่งของให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น, การนำตาข่ายกู้ภัย (Rescue platform) มาใช้ในการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อความปลอดภัยของผู้รับ, การสนับสนุนอากาศยานเพื่อขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปส่งให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วมสูงเข้าถึงยาก และการปรับใช้เรือเร็วเพื่อการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นต้น
ผู้บัญชาการทหารบกย้ำว่ายุทโธปกรณ์ที่มีประจำการทุกชนิดให้พิจารณานำมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ตามเจตนารมณ์ “การใช้ยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเพื่อประชาชน”