มหิดลประกาศ Innovation for Campus Sustainability 2021 ต่อยอดนโยบายเชิงนิเวศ

มหิดลประกาศ Innovation for Campus Sustainability 2021 ต่อยอดนโยบายเชิงนิเวศ

มหิดลเปิดรายชื่อนักศึกษาผู้ชนะการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2021 โครงการต่อยอดเพื่อส่งเสริมนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดตัว นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Mahidol Eco University and Sustainability Policy ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มี 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : 17 SDGs) เพื่อตั้งเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิผ่านยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563 - 2566 ไปแล้วนั้น

ล่าสุดมหาวิทยาลัยฯ ได้ต่อยอดโครงการเพื่อส่งเสริมนโยบายฯ ตามแผนในทันที โดยเริ่มจากการดึงนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยที่นับเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมมาร่วมออกแบบนวัตกรรมที่จะพัฒนาสังคมโลกให้เป็นที่ที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนมากขึ้น ภายใต้การประกวด “Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้”  Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้ เป็นการประกวดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในการประลองความรู้ความสามารถผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี โปรแกรมซอฟต์แวร์ หรือกิจกรรมกลุ่ม ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการลดมลพิษสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนในการผลักดันมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

การประกวดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหลังจากเปิดรับสมัครก็ได้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) นำเสนอแนวคิด ปรับปรุงผลงาน และได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จนคัดเลือกเหลือ 4 ทีมสุดท้ายผู้เป็นเจ้าของผลงานสุดยอดนวัตกรรมที่มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาผลงานในทุกขั้นตอนจะพิจารณาจากความสมดุลใน 3 มิติ ที่เป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

1.) มิติการเติบโตสู่องค์กรที่ยั่งยืน คือ มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ หรือเมื่อใช้งานนวัตกรรมแล้วสามารถลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายได้
2.) มิติการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมความรู้ สมรรถนะ ผลิตภาพ หรือสนับสนุนให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพและเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้
3.) มิติการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยจะต้องเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

มหิดลประกาศ Innovation for Campus Sustainability 2021 ต่อยอดนโยบายเชิงนิเวศ

โดยทีมผู้ชนะเลิศการประกวด Innovation for Campus Sustainability 2021: SDG Smart Action นวัตกรรมสร้างได้ ได้แก่ ทีม EGG E EGG EGG โดยนางสาวอิ่มบุญ วิรัชศิลป์ และนายพศวัต เสนาะคำ เจ้าของผลงาน Salaya Egg (ไข่ศาลายา) ไข่ปลอดโซเดียมที่มีเนื้อสัมผัสเฉพาะเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตและโรคหัวใจ รวมถึงชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรม Salaya Egg จะมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด การผลิตนวัตกรรมจะต้องมีต้นทุนต่ำด้วยการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ลดการใช้โซเดียม ใช้กระบวนการผลิตที่สะอาด เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ชอบได้อย่างปลอดภัย ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ไปจนถึงประโยชน์ในวงกว้างนั่นก็คือการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนให้กับชุมชน สร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลสุขภาพของคนในสังคมได้จริง

“อยากฝากทุก ๆ คนถึงการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เราสามารถเริ่มได้จากสิ่งรอบตัวที่สามารถต่อยอดได้ ขอให้ผลงานของเราเป็นแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อการพัฒนาและการให้อย่างไม่สิ้นสุด” 

นางสาวอิ่มบุญ และนายพศวัต ได้กล่าวถึงหนึ่งในความตั้งใจหลักที่ตัดสินใจเข้าประกวดในโครงการนี้

มหิดลประกาศ Innovation for Campus Sustainability 2021 ต่อยอดนโยบายเชิงนิเวศ
 
​ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Nab Omi โดยนายวิทวัส สุดทวี นายพิจักษณ์ อารยาวิชานนท์ และนางสาวณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ์ เจ้าของผลงานแอปพลิเคชัน Khong Klang (ของขลัง) แอปพลิเคชันเพื่อการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสิ่งของ ที่เป็นการรวมตัวกันของการเป็นแอปพลิเคชัน E-commerce และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสะบาย เข้าถึงได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมและสร้างช่องทางการซื้อขายสินค้าภายในองค์กรหรือชุมชน ทำให้เกิดการส่งต่อสินค้าคุณภาพในราคาที่ย่อมเยา และลดการเกิดขยะภายในองค์กรและชุมชนนั้น ๆ
​ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม SIRIMONG3KOL โดย นางสาวอรญา ศรีเจริญวรรณ 

นายศุภกฤต ตาลน้อย และนางสาวนภัสมนต์ ศรีนครา เจ้าของผลงานแอปพลิเคชัน SIRIMONGKOL (ศิริมงคล) แอปพลิเคชันที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจิตวิทยา เป็นวัดเสมือนจริง ซึ่งประกอบด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทความแบบข้อความหรือแบบเสียง ช่องทางการทำบุญ และอีกมากมาย เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้หันมาดูแลเยียวยาจิตใจของตนเองไปพร้อมกับการพัฒนาทางจิตวิญญาณที่สอดแทรกสาระดี ๆ ทางพุทธศาสนาที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยมีลักษณะของการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นในการเสริมสร้างความยั่งยืนในสังคม

 

ทีมรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม Eco Vision โดยนางสาวซอนย่า แยปปิเน่น เจ้าของผลงาน Green Rooftop ที่จะช่วยจัดการและลดปัญหาของความร้อนในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ โดยช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวท่ามกลางการเพิ่มขึ้นสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ผลงานนี้ยังมุ่งเน้นการส่งสาส์นสู่สังคมเพื่อการตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านมลภาวะและปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban heat island) และเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนดาดฟ้าให้เป็น Green Rooftop ร่วมกันอีกด้วย
​มหาวิทยาลัยมหิดลมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการประกวดนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นอกจากจะส่งเสริมนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเวทีสำหรับให้นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยผู้ชนะการประกวดในเวทีนี้ทั้ง 4 ทีมจะได้รับเงินรางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตร อีกทั้งผลงานจะถูกนำไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้บนเวทีระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย