"สิงห์ศึก" กางผลงาน2ปีส.ว.เร่งแผนปฏิรูป ชู"ตำรวจ-การศึกษา"
รองประธานวุฒิสภา ปลื้มประชาชนพอใจโครงการ สว.พบประชาชน ชี้ ทัศนคติ-วัฒนธรรมองค์กรเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปตำรวจและการศึกษา ลั่นหากไม่ปรับองค์กรจะอยู่ไม่ได้
พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการอำนวยการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน กล่าวถึงโครงการ สว.พบประชาชน ว่า สืบเนื่องจาก ส.ว. นั้นเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ เหมือนกับ ส.ส. แต่ภาระหน้าที่ทั้งงานด้านการกลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการบริหารราชการแผ่านดิน รวมถึงการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ต่างเกี่ยวข้องกับประชาชน จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ ส.ว. ลงไปพบปะแลกเปลี่ยนสะท้อนปัญหาจากประชาชน เพื่อนำปัญหามาเสนอไปยังกลไกของวุฒิสภาผ่านกรรมาธิการสามัญ ส่วนเรื่องใดที่มีข้อกฎหมายหรือมติ ครม.ที่ชัดเจนอยู่แล้วก็จะส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมตรีเพื่อดำเนินการ และตลอด 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อโครงการนี้
พลเอกสิงห์ศึก ยังกล่าวถึงภารกิจของ ส.ว.ที่รัฐธรรมนูฐกำหนดให้ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ว่า ตามแผนงานเบื้องต้นนั้นการปฏิรูปประเทศจะต้องเสร็จสิ้นในปี 2565 ซึ่งถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีเรื่องของการปฏิรูปประเทศ โดยเบื้องต้นนั้นมี 12 ด้าน แต่ภายหลังทางคณะรัฐมนตรีได้มีการปรับปรุง ทำให้ปัจจุบันมี 13 ด้าน
ส่วนความคืบหน้านั้น พลเอกสิงห์ศึก กล่าวว่า บางเรื่องเป็นเรื่องของการปรับกระบวนการของหน่วยงานราชการ การปรับทัศนคติ การบูรณาการในระบบงบประมาณ โดยขณะนี้ทราบว่าทาง กพร.ได้มีการดำเนินการประเมินข้าราชการแล้ว และเมื่อไม่นานมานี้มี ครม. ก็มีมติให้ประเมินผลสัมฤทธิ์หัวหน้าหน่วยงานที่ดำเนินการประสบความสำเร็จในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ หรือการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ นี้ หากไม่สนองงานด้านการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ทาง ส.ว.ก็มีหน้าที่ที่จะรายงานตามข้อเท็จจริง และมีการประเมินผลนี้ก็จะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ พลเอกสิงห์ศึก กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปการศึกษา ที่สังคมไทยต่างให้ความสนใจอยู่ ว่า ขณะนี้กฎหมายปฏิรูปตำรวจอยู่ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ซึ่งเป็นธรรมดาของกฎหมายที่จะต้องเริ่มต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่จะแก้ไขกฎหมายตำรวจก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นอะไรที่จะไปทำให้เกิดความลำบากมากขึ้น หรืออะไรที่ทำให้สุขสบายน้อยลง ก็พยายามที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าไว้ แต่ทั้งนี้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทีมาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯนั้นถือว่ามีความเป็นกลางที่ต้องการจะเห็นอนาคต โดยการจะแก้กฎหมายให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้คิดว่าปัจจุบันกฎหมายนั้นควรต้องเขียนขึ้นใหม่ เพราะหากไปแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ บางเรื่องบางราวมันยังไม่ได้รับการแก้ ก็ยังติดค้างอยู่บ้างอันนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาอยู่
ส่วนด้านการศึกษานั้น พลเอกสิงห์ศึก กล่าวว่า พ.ร.บ.การศึกษาเป็นกฎหมายฉบับแรกที่รัฐต้องให้ความสนใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขไปแล้วแต่ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายของกระทรวงอุดมศึกษา แต่ในระดับกระทรวงศึกษาธิการนั้นยังไม่มี ซึ่งขณะนี้กำลังจะแก้ไข แต่ก็มีปัญหาอยู่ในเรื่องของอำนาจหรือวิถีเก่าที่ยึดโยงมานาน ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนทำให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและของเด็กจริงๆ รวมถึงเรื่องของทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะบางครั้งการแก้กฎหมายแล้วไปขัดวัฒนธรรมองค์กรทำให้การแก้ไขทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือปรับให้เข้าสู่ยุคสมัยตามสังคม แต่หากยังจะฝืนไปต่อไปหน่วยงานก็จะอยู่ไม่ได้