วิศวกรรมสถานฯ มั่นใจน้ำท่วมไม่ซ้ำรอยปี 54 เตือน 8 พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง
ผู้เชี่ยวชาญ วสท. ตั้งโต๊ะแถลงมั่นใจน้ำไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 54 ชี้ปัจจัยต่างกันทุกมิติ แจ้งระวัง 8 พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 64 ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กรุงเทพฯ วิศวกรรมสถานฯ แถลงข่าว “วิเคราะห์ความเสี่ยงสถานการณ์อุทกภัยปี 2564” ภายหลังเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากอิทธิพายุเตี้ยนหมู่ และมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23-28 กันยายนที่ผ่านมา
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีมกรุ๊ป" ในฐานะนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบันยังต่างจากอุทกภัยปี 54 ในทุกมิติ ได้แก่
1.ปริมาณน้ำฝน ซึ่งน้ำท่วมที่เกิดจากพายุเตี้ยนหมู่ และอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บางพื้นที่มีฝนตกหนก ในช่วงวันที่ 22-25 กันยายน 2564 และที่อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำฝนสูงสุด 362 มม.ต่อวัน ในขณะที่ ในปี 2554 ที่มีพายุไห่ถาง เนสาด และนาลแก เคลื่อนที่มาในระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 5 ตุลาคม 2554 ทำให้มีฝนตกหนักจากพายุแต่ละลูกเฉลี่ย 180, 120 และ 100 มม.ต่อวัน รวมพายุ 3 ลูก ประมาณ 400 มม. สูงกว่าฝนที่ตกหนักในปี 64
2. ฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในช่วงวันที่ 22 - 25 กันยายน ดังกล่าว ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 2900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยแบบจำลองประเมินว่าจะมีอัตราการไหลสูงสุด 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดว่ายอดน้ำสูงสุดจะมาถึงนครสวรรค์ประมาณวันที่ 1 - 2 ตุลาคมนี้ ซึ่งอัตราการไหลสูงสุดยังน้อยกว่าปี 54 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
3.พื้นที่น้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนประมาณ 595,000 ไร่ น้อยกว่าปี 54 ถึงประมาณ 2.5 เท่า
“สถานการณ์ในปีนี้ แตกต่างจากปี 54 ในทุกมิติ และข้อมูลจากเขื่อนแหล่งเก็บน้ำหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ายังมีที่ว่างเหลือในปริมาณมาก แตกต่างจากปี 54 ซึ่งมีปริมาณน้ำถึง 92%” นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าว
เตือน 8 พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง
นายชวลิต กล่าวว่า อย่างไรก็ดีกรมชลประทานได้ บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท รวมถึงการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่ง และพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น จนน้ำเต็มอ่างอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 900 ถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000 ถึง 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การจัดการดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20 ถึง 2.40 เมตร และท้ายเขื่อนพระรามหกจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 ถึง 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1 -5 ตุลาคม 2564 จึงมีพื้นที่เสี่ยง ที่ต้องเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ ดังนี้
1. จังหวัดชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลโพนางดำออก และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา
2. แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี
3. จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก
4. จังหวัดลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอพัฒนานิคม
5. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยาจรดแม่น้ำเจ้าพระยา
6. จังหวัดสระบุรี บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ
7. จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี: บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
8. กรุงเทพมหานคร บริเวณแนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
นายชวลิต กล่าวว่า กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มั่นใจว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้นเป็นลำดับในช่วง 17-30 ตุลาคมนี้ ได้แก่ จ.อยุธยาประมาณวันที่ 17 ตุลาคม จ.อ่างทอง ประมาณวันที่ 18 ตุลาคม จ.สิงห์บุรี ประมาณวันที่ 20 ตุลาคม และที่ ทุ่งบางบาล อ.บางบาล จ.อยุธยา ประมาณวันที่ 30 ตุลาคม
.
รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของเเม่น้ำเจ้าพระยาได้แตกต่างไปจากเมื่อปี 2554 ไปอย่างมาก มีการก่อสร้างกำแพงยกระดับริมตลิ่งทั้งสองข้างของแม่น้ำไม่ให้ท่วมเข้าในเขตเมือง ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น ไม่แผ่ราบกระจายไปทั่วเช่นเมื่อก่อน การป้องกันเช่นนี้ จะเป็นการป้องกันน้ำที่หลากมาจากทางแม่น้ำ แต่จะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำออกจากเขตเมือง ในกรณีที่ฝนตกในพื้นที่
“รัฐบาลควรลงทุนในการเวนคืนและสร้างคูคลอง แม่น้ำ หรือจะเรียกว่า flood way ก็แล้วแต่ ให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ในการช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำสายหลัก ไม่เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยภูมิ และโคราช ก็เช่นกัน บริเวณเหล่านี้ เดิมเรามีคำเรียกว่า "บริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก" โดยการมีแม่น้ำหรือลำคลองสายใหม่ จะช่วยให้การควบคุมน้ำทางชลศาสตร์ทำได้ดี ไม่เพียงแต่ในฤดูฝน แต่จะช่วยกักเก็บและกระจายน้ำใน ฤดูแล้งได้ด้วย”