เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

ทุกปัจจัยจากภัยธรรมชาติ และการขยายตัวของเมือง จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าพื้นที่กรุงเทพฯ จะกลับไปเกิดมหาอุทกภัยเช่นเดียวกับปี 2554 อีกหรือไม่ ?

จากคำเตือนล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค.64 ที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม โดยคาดว่าวันที่ 5 ต.ค.น้ำจะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สูงสุด 3,050 - 3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

จากนั้นน้ำจะไหลออกสู่อ่าวไทย ช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันจะเกิดสภาวะ "น้ำทะเลหนุนสูง" ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก 30-50 เซนติเมตร ส่งเป็น คำเตือนไปถึงประชาชาชนในกรุงเทพฯ ที่อาศัยนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดระหว่างวันที่ 7-11 ต.ค.นี้

จากสถานการณ์ "นำ้เหนือ-น้ำหนุน" ที่ กทม.กำลังเตรียมเผชิญขณะนี้ เป็น 2 ใน 3 ปัจจัยหลักทำให้กรุงเทพฯ อยู่ในภาวะเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม นอกเหนือจากภาวะ "น้ำฝน" โดยเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้นและลงของน้ำทะเลอ่าวไทย

ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พื้นที่กรุงเทพฯ ได้เร่งพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม โดยปี 2559 ถึง 2564 กทม.ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมไปแล้วจาก 19 จุด เหลือ 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 61 จุดเหลือ 51 จุด โดยในปี 2565 กทม.มีเป้าลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้เหลือ 36 จุด

(อ่าน : เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร)

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

สำหรับสาเหตุน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้ถูกรวบรวมข้อมูลไว้ที่ "แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี2564" ของสำนักการระบายน้ำ กทม. แบ่งสาเหตุน้ำท่วมที่พื้นที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญทุกปี มาจากปัจจัย ดังนี้

สาเหตุจากธรรมชาติ

1.น้ำฝน : จากสถานการณ์ฤดูฝนของทุกปี จะเริ่มในเดือน พ.ค.-ต.ค. โดยมีปริมาณและความถี่สูงสุดช่วงกลางเดือน ส.ค.-ต.ค. และเป็นช่วงเดียวที่มีโอกาสการเกิด "พายุหมุนเขตร้อน" เคลื่อนเข้ามาในประเทศไทย โดยในปี 2564 ไทยได้รับพายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" เข้ามาลูกล่าสุดในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเข้าท่วมในหลายจังหวัด

ไม่ใช่แค่ "เตี้ยนหมู่" แต่ "ชวลิต จันทรรัตน์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด(มหาชน) TEAMG หรือ "ทีมกรุ๊ป" ซึ่งมีประสบการณ์ความชำนาญในด้านการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 30 ปี วิเคราะห์พายุหมายเลข 17 "ไลออนร็อค" จะเข้าไทยที่ จ.นครพนม ช่วงวันที่ 11-12 ต.ค.นี้

2.น้ำทุ่ง : หรือน้ำเพื่อการกสิกรรมที่มาจากด้านเหนือ และด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ จะไหลเข้าในพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามความลาดเอียงของระดับพื้นดิน ทำให้ความรุนแรงแต่ละปีขึ้นอยู่กับปริมาณ ระดับน้ำ และความลาดเอียงของระดับพื้นดินที่มาจากปัญหา "แผ่นดินทรุด" แต่ละจุด อาทิ ในพื้นที่ด้านตะวันออกของ กทม.เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักในปี 2525 2526 2538 2549 และ 2554

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดศึก 3 ด้าน กทม. ผ่าแผนรับมือน้ำท่วมกรุง!)

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

ระดับน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด เดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี

3.น้ำเหนือ : มวลน้ำที่มาจากฝนที่ตกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กระจายอยู่ตามทุ่งเพาะปลูกและพื้นที่ต่างๆ กว่า 160,000 ตารางกิโลเมตรโดยบางส่วนถูกเก็บกักในเขื่อนต่างๆ แต่ส่วนที่เหลือประมาณ 70 % จะไหลเข้ากรุงเทพฯ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ 7 เขต(ดุสิตพระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย คลองสาน) ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเสี่ยงต่อระดับน้ำขึ้นสูงสุด ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ "กอนช." ออกหนังสือฉบับที่ 19/2564 แจ้งเตือนพื้นที่เตรียมรับผลกระทบนอกแนวป้องกันน้ำท่วม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ 

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

เน้นไปที่ปัจจัยสำคัญของ "มวลน้ำเหนือ" ที่มาจากปริมาณน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกรุงเทพฯในแต่ละปีนั้น หากมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้อยจะมีมวลน้ำอยู่ที่ 1,000-2,000 ลบ.ม./วินาที แต่หากในปีน้ำเหนือมีปริมาณมาก จะมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 4,000-5,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในปี 2554 มีปริมาณระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มากถึง 3,700 ลบ.ม./วินาที แต่ขนาดพื้นที่ "แม่น้ำเจ้าพระยา" ช่วงผ่านกรุงเทพฯ กลับรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที 

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

4.น้ำทะเลหนุน : เมื่อพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้นและลงของน้ำทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นและลงทุกครั้ง จะผลต่อแม่น้ำเจ้าพระยาให้ขึ้น-ลงตามกัน โดยในกรุงเทพฯ จะมีช่วงน้ำทะเลหนุน "สูงสุด" ในเดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี

5.ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา : จากสาเหตุ "น้ำเหนือ" มีปริมาณมาก บวกกับ "น้ำทะเลหนุนสูง" ซึ่งมีช่วงเวลาสัมพันธ์กัน ในเดือนต.ค.-พ.ย. เป็น 2 ปัจจัยสำคัญให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงกว่าปกติมาก อาทิ ในปี 2526 2538 2539 2545 2549 2551 2553 และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

โดยเฉพาะ "สถิติระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา" ขึ้นสูงสุด จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริเวณตอนเหนือที่คลองบางเขนและคลองบางซื่อ มีน้ำขึ้นสูงสุด 2.83 ม.รทก. บริเวณตอนกลางที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีน้ำสูงสุด 2.53 ม.รทก. และบริเวณตอนใต้ที่คลองพระโขนงและคลองบางนา มีน้ำสูงสุด 2.19 ม.รทก. ทำให้ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น กทม.ได้เสริมความสูง "แนวป้องกันน้ำท่วม" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้น 20-50 เซนติเมตร

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

6.สภาวะเปลี่ยนแปลงตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ 3 ปัจจัย ตั้งแต่ 1.ลานีญา ทำให้ปริมาณฝนสูงขึ้นกว่าปกติ 2.เอลนีโญ ทำให้มีปริมาณฝนในภาพรวมต่ำกว่าปกติ แต่อาจมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนเมือง และ 3.ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำหนุนสูงขึ้นกว่าข้อมูลที่หน่วยงานคาดการณ์ไว้

สาเหตุสภาพทางกายภาพ

1.ปัญหาผังเมือง จากที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพฯ ในอดีตมีคลอง ดู บึง ห้วยที่ว่างรับน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกครั้งที่ฝนตก "ระบบรับน้ำธรรมชาติ" จะช่วยระบายน้ำจากถนนและบริเวณที่อยู่อาศัยออกไปที่ลุ่มข้างเคียง แต่จากการเติบโตของเมืองที่ไม่สิ้นสุด ทางระบายน้ำหลายแห่งถูกแทนที่ด้วยอาคารและพื้นที่คอนกรีต เมื่อมีปริมาณฝนที่ตกมาอย่างหนัก จึงไหลลงสู่คลองไม่ทัน 

2.ปัญหาแผ่นดินทรุด สำนักการระบายน้ำประเมินปัญหาที่น่าวิตกที่สุด เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบป้องกันน้ำท่วม และระบายน้ำที่ลงทุนไปแล้ว และเตรียมลงทุนอีกในอนาคตประสบความล้มเหลว หรือลดประสิทธิภาพได้ ตราบที่ยังไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือชะลออัตราการทรุดตัวได้อย่างรวดเร็ว 

ขณะเดียวกันพื้นที่กายภาพของกรุงเทพฯ เป็นลักษณะแอ่งกะทะเนื่องจากแผ่นดินทรุด มีระดับความสูงต่ำของแต่ละเขตแตกต่างกัน โดยพบว่าถนนร่มเกล้า มีพื้นที่สูงถึง +1.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และถนนรามคำแหงมีพื้นที่สูงเพียง +0.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ตามภาพ) ทำให้น้ำฝนไหลลงมาท่วมถนนและซอยที่ต่ำกว่า เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมบนถนนที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม 

(อ่านประกอบ : เช็ค 12 จุดเสี่ยง 'น้ำท่วม' เดิมพัน 8 เขต 'กทม.' ฝั่งธนฯ-พระนคร) 

เช็คลิสต์ 6 ปัจจัยเสี่ยง! ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุง ต.ค.-ธ.ค.64

ทั้งหมดเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งถึง "ความเสี่ยง" น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งมาจากสาเหตุธรรมชาติ และสาเหตุทางกายภาพ ที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งปัจจัยให้เกิดน้ำท่วมเร็วกว่าเดิม จากปัญหาการเติบโตของเมืองที่ไม่มีสิ้นสุด 

ทำให้ทุกปัจจัยจากภัยธรรมชาติ หรือการขยายตัวของกรุงเทพฯ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ต.ค.-ธ.ค.64 จะกลับไปเกิดมหาอุทกภัยเช่นเดียวกับปี 2554 อีกหรือไม่?!?

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดข้อสงสัย "น้ำท่วมใหญ่" กทม. ? เทียบปัจจัยมหาอุทกภัย 54)