โจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ คิดแบบ “สตาร์ทอัพ” เติบโตบนวิกฤติ

โจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ คิดแบบ “สตาร์ทอัพ” เติบโตบนวิกฤติ

เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยน ส่งผลต่อชีวิตและธุรกิจ แนวคิดแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันที่หยุดนิ่งด้วยโรคระบาด ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ "สตาร์ทอัพ" คนที่ปรับตัวเร็ว เปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจได้ไว จึงถือว่าก้าวไปอยู่ข้างหน้าคู่แข่งและเติบโตได้แม้เจอวิกฤติ

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นธุรกิจเติบโตในยุคการระบาดของ โควิด-19 โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่นักลงทุนต่างชะลอการลงทุนใน Early Stage แม้แต่สตาร์ทอัพที่อยู่มานานยังต้องปรับตัวและไม่หยุดนิ่ง “คิวคิว” (QueQ) แอปพลิเคชั่นลดปัญหาการรอคิว ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้าง Impact ให้กับสังคมชัดเจน นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2558 จนปัจจุบัน

 

“โจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” CEO & Co-Founder บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เล่าจุดเริ่มต้นของ คิวคิว หลังจากที่ผันธุรกิจบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ สู่เทคสตาร์ทอัพ ว่า ตอนที่เป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์ มองว่าเราไม่ได้คิดเรื่องของการแก้โจทย์ด้วยตัวเอง เรารับโจทย์มาจากลูกค้า ทำงานเสร็จแล้วก็ส่งมอบ จึงคิดว่าควรโฟกัสอะไรที่เป็นปัญหาของคนทั่วไปและเห็นว่าเรื่องคิวเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรแก้

 

จากความตั้งใจแรกของ “คิวคิว” ในการนำมาแก้ปัญหาเรื่องการรอคิวฝั่งผู้รับบริการ ทำให้การเข้าแถว การรอหายไป เป้าหมายแรกจึงเป็นร้านอาหาร ขยายสู่ธนาคาร โรงพยาบาลรัฐและเอกชน พร้อมกับขยายไปยังธุรกิจร้านอาหารทั้งในมาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น กว่า 6 ปีที่ผ่านมา การปั้นคิวคิวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเกิดของสตาร์ทอัพเริ่มจากปัญหา ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา

 

“อินโนเวชั่นเป็นของใหม่ที่ไม่มีตัวอย่างให้เดินตาม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเสี่ยงทำอะไรบางอย่าง ก็จะเจอปัญหาตามมา แต่ว่าวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ คือ หากเราผ่านปัญหานั้นได้ เราก็จะหนีคนที่จะตามเรามาไปได้อีกขั้นหนึ่ง”

  • สร้างธุรกิจ บนความเชื่อมั่น 

 

รังสรรค์ เล่าต่อไปว่า ปัญหาของคิวคิว ตั้งแต่ตอนต้น คือ ไม่มีใครเชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้ เพราะตลาดไม่ใหญ่มากพอ และมีหลายคนคิดว่าทำแบบคิวคิวทำง่าย ใครๆ ก็เลียนแบบได้ ซึ่งใช่ ทำแอปฯ แบบคิวคิว ไม่ได้ยาก มีเวลา มีเงินทุนก็ทำได้ แต่ทำให้เกิดการใช้งานจริง ทำให้พื้นที่ที่มีปัญหาไหลเข้ามาในแพลตฟอร์ม และแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องใช้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาทั้งนั้น

 

ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนหน้าตาโปรดักส์เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยน คือ คุณค่าที่ไปถึงมือผู้ใช้งาน ถึงมือผู้คนที่จะเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม คุณค่าตรงนี้ชัดเจนจริงหรือไม่ และคนเชื่อถือในสิ่งที่เขาได้รับจากคุณค่านั้นมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ คือ สิ่งที่สำคัญมาก ต้องอาศัยการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่แค่คิวคิว แต่สตาร์ทอัพต้องคิดแบบนี้

 

  • บทบาท "คิวคิว" ในสถานการณ์ "โควิด-19"

 

ในวันนี้เรียกได้ว่า “คิวคิว” สามารถให้บริการทุกที่ที่มีการรอคิวหรือมีความไม่สมดุลกันระหว่างดีมานด์และซัพพลาย การระบาดของโควิด-19 คิวคิวเข้ามาช่วยตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ที่ศูนย์ตรวจโควิด-19 Rapid Test ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้จองทางแอปพลิเคชั่นตามเวลา 50 คนต่อวัน โดยใช้เก้าอี้เพียง 5 ตัว

 

หลังจากนั้น เริ่มนำระบบคิวคิวไปใช้ในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ลดการกระจุกตัวเนื่องจากคนไทยที่ต้องทำ Fit to Fly Certificate ขยายสู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมไปถึงอุทยานแห่งชาติทั้งหมดขึ้นมาอยู่บนคิวคิวในการจำกัดเข้าพื้นที่ และในการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด “คิวคิว” ถูกใช้ในการจัดคิวฉีดวัคซีนมากกว่า 2 แสนคิว และการจัดคิวตรวจเชิงรุก มากกว่า 1.5 แสนคิว

พร้อมกับมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเปิดประเทศปลอดภัย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” วางระบบในการเข้าออกเมือง เชื่อมกับแอปฯ D.DOPA ของกรมการปกครอง ข้อมูลฉีดวัคซีน คัดกรองความเสี่ยงก่อนจองคิวเข้าเมือง รวมถึง ระบบ SHABA ของภูเก็ต เชื่อมข้อมูลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังจังหวัด 7+7

 

  • "สตาร์ทอัพ" คำตอบ...ในภาวะวิกฤติ

 

“รังสรรค์” ยอมรับว่าคิวคิวได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ผลกระทบด้านลบ คือ เซกเมนต์หลักเดิมอย่างร้านอาหารโดนล็อกดาวน์ทำให้รายได้ตรงนี้หายไป แต่ความโชคดีคือเราปรับและขยายออกไปจากเซกเมนต์เดิม ส่งผลกระทบทางบวก ในเซกเมนต์อื่นๆ เช่น ธนาคาร ราชการ รวมถึงเรื่องเปิดเมือง โซลูชั่นแบบคิวคิวเป็นที่ต้องการเพราะพิสูจน์แล้วว่าได้ผล ใช้งานง่าย วิกฤติโควิดเป็นจังหวะที่ทำให้เราได้เปรียบในการขยายธุรกิจ

 

“ในวิกฤติโควิด สังคมได้บทเรียนเยอะมาก โดยเฉพาะภาครัฐได้รู้ว่าเทคโนโลยีเก่าอาจไม่ทัน สตาร์ทอัพตัวเล็กๆ สามารถช่วยภาครัฐได้เร็ว ในงบประมาณที่ถูกกว่าและได้ผล ได้เห็นภาพการรวมกลุ่มสตาร์ทอัพอย่าง “เป็ดไทยสู้ภัย” เข้าไปช่วยหลายภาคส่วนโดยเฉพาะสาธารณสุข นี่คือ จุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้ภาครัฐมองเห็นศักยภาพของนวัตกร (Innovator)”

 

“หลังจากนี้ คาดว่าจะเห็นภาพการร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพกับภาครัฐมากขึ้น ภาพแบบในปัจจุบันที่สตาร์ทอัพหลายทีม ร่วมมือกับภาครัฐในวิกฤติโควิด เพราะสตาร์ทอัพปรับตัวได้เร็ว ด้วยวิธีคิด สเกล ความคล้องตัว ดังนั้น สตาร์ทอัพ คือ คำตอบที่ดีที่สุด” รังสรรค์ กล่าว

 

  • "คิวคิว" อยู่ในจุดที่ย่อตัวและกระโดด

 

ในวันนี้ เรียกได้ว่า คิวคิว อยู่ในจุดที่กำลังเติบโต แต่หากถามว่านี่คือความสำเร็จแล้วหรือยัง “CEO & Co-Founder คิวคิว” ตอบว่า ยังไปได้อีกเยอะ ตอนนี้เราอยู่ Position ที่ดีและอยู่ใน Growth Stage สถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งพอสมควรที่ทำให้การเติบโตของคิวคิวเร็วขึ้นและสร้าง Impact ได้เยอะขึ้น จากพื้นที่กทม. ขยายไปทั่วประเทศ

 

เมื่อก่อนคนเห็นว่าระบบของคิวคิวก็น่าสนใจดี ฝั่งผู้ให้บริการคิดว่าใช้คิวคิวแล้วลูกค้าไม่ต้องมานั่งรอ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ตอนนี้กลายเป็นผู้ให้บริการเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในยุคนี้ ยิ่งความหนาแน่นเยอะเท่าไหรก็มีสิทธิสูงที่จะทำให้พนักงานของผู้ให้บริการทั้งหลายเสี่ยงโควิด-19 และต้องปิด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

 

“กลายเป็นว่าสถานการณ์โควิดมากระตุ้นทำให้เกิดดีมานด์ ผมว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะที่คิวคิวกำลังย่อตัวและกระโดดแต่ยังไม่ถึงจุดสูงสุด ปีนี้เรียกว่าปิดบวกและเป็นจังหวะที่ดีที่จะระดมทุนอีกรอบเพื่อขยายผลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

  • โซลูชั่น ต้องสร้าง Impact กับสังคม

 

หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นคิวคิวในการจัดระบบคิวร้านชาบู กระทั่งตอนนี้มีส่วนร่วมเปิดเมือง รังสรรค์ มองว่า สิ่งเหล่านี้เกิดผลกระทบและคุณค่าที่ใหญ่ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพเท่านั้น หัวใจของการทำโซลูชั่น คือ ต้องสเกลได้โดยที่ไม่เกิดต้นทุนเยอะ ไปได้ทุกที่ทั้งไทยและต่างประเทศ ดีไซน์แพลตฟอร์มให้ติดตั้งง่าย เซตอัพง่าย และเข้าไปสร้าง Impact กับคนได้ง่าย ตอบโจทย์ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

 

“เมื่อสตาร์ทอัพ เริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาสังคม โซลูชั่น จึงไม่ใช่แค่การเติบโตทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้ ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจและหาเงิน แต่สามารถเอาโซลูชั่นตอบโจทย์ระดับประเทศ”

 

“ตอนนี้ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ทุกอย่างยังไม่นิ่ง เป็นเหตุการณ์ที่ประเทศเราเสียโอกาสมาพอสมควร ดังนั้น ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ใครที่มีกำลังมากพอ และอยู่ในจุดที่สามารถช่วยกันได้ ไม่ว่าจะมากน้อย เป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือคนทั่วไปที่มีแรง ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อพาทุกอย่างกลับคืนมาให้ได้ บ้านเรายังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัจจัยบวกและปัจจัยลบ มองในแง่ดีว่าเราจะสามารถกลับคืนมาได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เพราะหลายอย่างเรามีความพร้อม ผมยังมีความหวังในเรื่องนี้”

 

  • คิดแบบ "สตาร์ทอัพ" ดำเนินธุรกิจแบบ SME

 

ท้ายนี้ "รังสรรค์" ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพว่า ยุคนี้จะเป็นยุคที่ยากลำบากในการสร้างสตาร์ทอัพขึ้นมา เพราะการลงทุนใน Early Stage ชะลอ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนกลับมาในยุคนี้ คือ การที่สตาร์ทอัพรุ่นโตๆ รวมตัวกัน และทำให้ภาครัฐเห็นว่าเรารอดได้เพราะเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพเอง โอกาสประตูเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจะเปิดสำหรับสตาร์ทอัพใหม่ๆ เพราะเมื่อก่อนเป็นเรื่องยากมากที่สตาร์ทอัพจะได้รับการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ เพียงแต่วิธีคิดเรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่จะต้องเปลี่ยนไป

 

จากสตาร์ทอัพรุ่นเดิมที่ถูกสอนกันมาว่าจะต้องเน้นการเติบโต สร้างฐานยูสเซอร์เยอะๆ ขาดทุนก่อน ได้เป็นยูนิคอร์นทั้งๆ ที่ยังขาดทุนอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ตอนนี้อาจจะต้องเปลี่ยน คือ เน้นผลกำไรและ Cash Flow เติบโตด้วยวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ แต่ดำเนินธุรกิจแบบ SME เพราะในขณะนี้องค์กรใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งภาครัฐเอง ก็เริ่มเอาแนวคิดของสตาร์ทอัพ และการทำงานแบบสตาร์ทอัพไปประยุกต์ใช้

 

“ดังนั้น คิดแบบสตาร์ทอัพ ดำเนินธุรกิจโดยเอาหมวก SME มาใส่ สร้าง Cash Flow และกำไรไว้ก่อน จนกว่าทุกอย่างจะกลับคืนมา และใครที่แข็งแรงมากพอตอนนั้นตลาดทุนกลับมาเมื่อไหร่ คุณจะเลือกนักลงทุนได้เลย” CEO & Co-Founder คิวคิว กล่าวทิ้งท้าย