"อ.แป้ง" นักวิจัยจากวัคซีนใบยา ผลิตวัคซีนโควิดจากพืช
โควิด-19 โรคอุบัติใหม่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ทุกประเทศศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนมาป้องกันโรคดังกล่าว รวมถึงนักวิจัยของไทยได้เร่งค้นคว้าวิจัยเช่นเดียวกัน
“วัคซีนใบยา” หนึ่งในวัคซีนสัญชาติไทยที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะขณะนี้อยู่กำลังเปิดรับสมัครเริ่มทดลองในมนุษย์ และหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าในปี 2565 คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนใบยาอย่างแน่นอน
- เส้นทางก้าวสู่ ‘นักวิจัย’ วัคซีนใบยา
'อ.แป้ง' หรือ “รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ” นักวิจัยหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ผลิตวัคซีนโปรตีนจากพืชใบยาสูบ โดยได้ลงทุนด้วยใช้เงินทุนของตนเอง ร่วมกับ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ทำงานแบบสตาร์ทอัพ โดยอยู่ในความดูแลของ CU Enterprise
“จริงๆ แล้วการเป็นนักวิจัย ไม่ใช่ความฝันของอ.ตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ อ.อยากเป็น เพราะเป็นคนชื่นชอบการท่องเที่ยว ทว่าด้วยตอนเด็กไม่เก่งภาษา เป็นเด็กเรียนกลางๆ แถมไม่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนอะไร ก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ ตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์- คณิตไว้ก่อน เพราะสามารถไปเรียนต่อได้หลายอาชีพ” อ.แป้ง เล่า
พอเรียนจบม.ปลาย ต้องสมัครเรียน “อ.แป้ง” รู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับหมอ จึงเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ จนสอบติดคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็เลือกเรียนเพราะชอบชีววิทยาและเคมี
- เปลี่ยนความฝันสู่ความจริงที่มีความสุข
“เมื่อเรียนจบป.ตรี ทำให้เรารู้ว่างานวิจัยไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อสำหรับเราแต่เป็นสิ่งที่สนุก ซึ่งตอนจบ ป.ตรี ความฝันอยากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศก็ยังอยู่แต่ไม่เก่งภาษา จึงไปสมัครเรียนต่อปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ เพื่อที่จะได้เก่งภาษาและไปสอบชิงทุนปริญญาเอก ซึ่งตอนสอบชิงทุนป.เอกได้ อ.ก็ไม่ได้ตัดสินใจทันที เพราะเราก็ถามตัวเองอีกครั้งว่า อยากเป็นนักวิจัยจริงๆ หรือ?” อ.แป้ง เล่า
จากคำแนะนำของคุณพ่อที่บอก อ.แป้ง “ชีวิตของคนเราแม้ฝันว่าอยากจะบินได้ แต่ถ้าตอนนี้มีความสุขกับการเดินก็ควรจะเดินให้เต็มที่ และมีความสุขที่ได้ตัดสินใจไป”
อ.แป้ง เล่าต่อไปว่า คำพูดของพ่อทำให้อ.ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอก สาขา Plant Biology ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 15 ปีก่อน และนั่น เป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มศึกษาเรื่องโปรตีนจากพืช ได้ร่วมทีมวิจัยวัคซีนอีโบลา หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานเกี่ยวกับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดใช้แพลตฟอร์มเดียวกันคือ โปรตีนจากพืช
ประมาณ 2 ปีก่อนก็ได้ร่วมกับอ.สุธีรา และจัดตั้งบริษัทใบยา เริ่มคิดค้น พัฒนายา และวัคซีนต่างๆ จนกระทั่งเกิดโควิด-19 ก็ได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 โปรตีนจากพืชใบยาสูบ
- เป้าหมายพัฒนายา วัคซีนเพื่อคนไทย
อ.แป้ง เล่าต่อไปว่า หน้าที่ของอาจารย์ ไม่ใช่เพียงสอนหนังสือ แต่ต้องทำงานวิจัยร่วมด้วย ซึ่งอาจารย์ทำงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางพืชมาโดยตลอด ซึ่งตอนทำวิจัยจะให้นิสิตเข้ามาร่วมศึกษาค้นคว้าพัฒนายาและวัคซีน แต่เมื่อนิสิตจบการศึกษา กลับพบว่ามีจำนวนน้อยมากที่จะทำงานด้านการพัฒนางาน หรือพัฒนายา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากค่าตอบแทนนักวิจัยที่น้อย และไม่มีพื้นที่ให้ทำงานวิจัย
“วัคซีนโควิด-19 จากพืชใบยาสูบ ถือเป็นงานวิจัยที่ได้ผลิตวัคซีนโปรตีนจากพืชครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศ และตอนแรกที่ทำก็มีหลายคนไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ แต่อาจารย์ ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าศึกษาวิจัยมาโดยตลอด และให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้นิสิตได้มีพื้นที่ทำงานวิจัย”อ.แป้ง เล่า
ตอนนั้นจะใช้แลปเล็กๆ ของมหาวิทยาลัยในการทำวิจัย จนกระทั่งทางจุฬาฯ มีนโยบายผลักดันให้นักวิจัยออกมาทำเป็นบริษัท เป็นสตาร์ทอัพ เพื่อให้งานวิจัยสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับอ.สุธีรา ตั้งบริษัท สตาร์ทอัพ ใช้งานวิจัยเป็นฐานในการผลิตโปรดักส์ พัฒนายาให้เกิดขึ้นให้ได้ และจะได้มีพื้นที่ให้นักวิจัยนิสิตรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ทำงานวิจัย
ไม่ว่าใครจะมองว่า “อ.แป้ง” เป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่สำหรับเธอมองตัวเองเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย ที่เปลี่ยนรูปแบบจากอาจารย์ขอทุนวิจัย มาเป็นอาจารย์สอนเด็กทำวิจัย ให้ได้งานวิจัยที่สามารถใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่ง วัคซีนใบยา เมื่อผลิตสำเร็จไม่ได้เพื่อนำมาขายต้องการกำไรมากมาย แต่ต้องการช่วยให้คนไทยได้มียา วัคซีนของตนเอง เพราะตอนนี้วัคซีน ยาเกือบทุกชนิดล้วนมาจากต่างประเทศ
“ขณะนี้การผลิตวัคซีนใบยา กำลังดำเนินการควบคุมคุณภาพ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเสนอสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือนส.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรก เดือนก.ย.นี้ และถ้าผลการทดสอบทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่ากลางปี 2565 จะสามารถผลิตวัคซีนใบยาให้คนไทยได้ฉีด” อ.แป้ง กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากวัคซีนโควิดที่มีการพัฒนาแล้ว ทางบริษัทใบยา ฯ ได้มีการผลิตยา และศึกษาวิจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะขณะนี้ยาที่ใช้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามา ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนายาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ได้ หากเกิดการระบาดของโรคอื่นๆ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัส ต้องพร้อมในการผลิตยา หรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้