"รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร"ต้นแบบดูแลคนพิการต่อสู้โควิด-19

"รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร"ต้นแบบดูแลคนพิการต่อสู้โควิด-19

 วิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มไม่เว้นแม้แต่คนพิการ ซึ่งยากต่อการเผชิญหน้ากับโรคระบาดนี้ได้เพียงลำพัง

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2564 เพื่อให้บริการคนพิการที่ป่วยโรคโควิด-19 (กลุ่มสีเขียว) ได้พักฟื้นรักษาตัว

กระทั่งวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ได้ส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3 รายสุดท้ายกลับบ้านอย่างปลอดภัย ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ได้ยุติการดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่30 กันยายน

ตลอดระยะเวลา 120 วัน และเกือบตลอด 24 ชั่วโมงของทุกวันนอกจากช่วยให้คนพิการที่ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาและหายป่วยกลับบ้านอย่างปลอดภัย โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ แห่งนี้ ยังกลายเป็นบทเรียนหน้าใหม่ให้แก่ทีมสหวิชาชีพทุกหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การสร้างต้นแบบโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลคนพิการในยามเผชิญโรคระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

 

  • ‘สวัสดิภาพ’เพื่อคนพิการ

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน . จึงตั้ง‘ทีมเรามีเรา’ขึ้นมาเฉพาะกิจ ซึ่งประกอบด้วยนักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาสังคมที่ทำหน้าที่เชิงรุกในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการคุ้มครองดูแล เนื่องจากการรับมือกับโรคโควิด-19จะต้องมีการดูแลร่วมกับทั้งด้านการแพทย์ ด้านสวัสดิการและสิ่งอำนวยสะดวกสำหรับคนพิการควบคู่กันไป

\"รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร\"ต้นแบบดูแลคนพิการต่อสู้โควิด-19

การบูรณาการร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงาน ตัวอย่างกรณีคนพิการที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19  พก. พบว่ามีคุณพ่อติดโควิด-19 แต่ลูกซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตายังไม่พบเชื้อ และต้องอยู่บ้านคนเดียว เพราะคุณแม่เสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาน้องคนดังกล่าวได้ตรวจพบเชื้อ พก.ประสานงานร่วมกับทีมแพทย์สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อประสานให้น้องได้มารักษาที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ประสานนำคุณพ่อมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ ทำให้ผู้พิการทางสายตาได้รู้สึกอบอุ่นทางใจที่ได้อยู่ใกล้กับคนที่คุ้นเคย มีนวัตกรรมช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทุกประเภท ทั้งอุปกรณ์ลดความเสี่ยงในการสัมผัสเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ และเครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสม ตอบโจทย์ทั้งการบริการคนพิการและทำให้ระบบสาธารณสุขประหยัดทรัพยากรได้มาก”สราญภัทร กล่าว

 

  • ‘นวัตรรมวิจัย’สู้โควิด-19

แม้ว่าโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ จะหยุดดำเนินการแล้่ว แต่‘ทีมเรามีเรา’ของ พก. ยังคงเดินหน้าภารกิจช่วยเหลือคนพิการในสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีโรงพยาบาลสนามราชานุกูล ซึ่งดูแลเฉพาะสำหรับกลุ่มคนพิการออทิสติกด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ รวมถึงคนในครอบครัว ระบบกักแยกผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) ของกลุ่มคนพิการทางการมองเห็น ซึ่งสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและโรงเรียนสอนคนตาบอดยังเปิดรับคนตาบอดและครอบครัวที่ป่วยโรคโควิด-19 บริหารจัดการโดยโรงพยาบาลรามาธิบดี

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในภารกิจช่วยเหลือชีวิตคนพิการให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ได้ปรับปรุงพื้นที่เพิ่มเติมตามที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแนะนำ ตั้งแต่ทางเดิน ห้องน้ำ ระบบบริการล่ามทางไกลสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งเป็นบริการล่ามภาษามือทางไกลที่ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลสนามบ้านวิทย์ฯ (คนหูปกติ) สามารถสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยิน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่จัดเตรียมไว้ที่โรงพยาบาลสนาม 

รวมทั้งมีผลงานวิจัยซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัย สวทช. เช่น เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบเคลื่อนที่ได้ (BodiiRay M) อุปกรณ์ป้องกันและฆ่าเชื้อโรค เช่น หน้ากากอนามัย Safie Plus และ หน้ากาก N95n-Breeze เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) แบบ Robot และแบบ Station รถส่งของบังคับทางไกล‘อารี’และหุ่นยนต์ส่งของ‘ปิ่นโต2’(กรมวิทยาศาสตร์บริการ เข้ามาร่วมสนับสนุน) หมวกแรงดันลบและแรงดันบวกn SPHERE เปลแรงดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย PETE เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

นอกจากนั้นแล้ว สวทช. ยังได้นำซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ระบบติดตามสุขภาพผู้ป่วยทางไกล สำหรับโรงพยาบาลสนาม (A-MED Telehealth)เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ในโรงพยาบาลสนามและแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้งานได้ดี จึงนำไปบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 

เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทยเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยและช่วยอำนวยความสะดวกกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างสมบูรณ์   ขณะเดียวกันก็ยังพัฒนาสารตั้งต้นในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาโควิด-19 และยังมีวัคซีนอีก 2 ชนิดที่กำลังอยู่ในเฟสการเตรียมการทดลองในมนุษย์ 

  • รพ.สนามเพื่อคนพิการแห่งแรกของไทย

พญ.บุษกร โลหารชุน รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ภาพรวมตลอด 4 เดือนได้ถอดองค์ความรู้ทั้งหมด และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ หากเกิดโรคระบาดเช่นนี้อีกในอนาคต เพื่อให้คนพิการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงการดูแลและรักษา เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาพของตนเอง”

โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยความสำเร็จครั้งนี้ คือความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 3 หน่วยงาน ขณะเดียวกันก็มีภาคประชาสังคมจิตอาสาที่เข้มแข็งมาช่วยสนับสนุนทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ภาครัฐไม่สามารถหาได้ในเวลาอันจำกัด นอกจากนั้นแล้วยังมีองค์กรคนพิการทุกประเภทที่มีความเข้มแข็งและพยายามรวมตัวกัน เพื่อเป็นจุดสำคัญในการรับข้อร้องทุกข์ซึ่งถือเป็นตัวแทนสำคัญมากๆ ที่ทำให้คนพิการที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ

โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในทุกกลุ่ม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานอาหาร เป็นขวัญกำลังใจแก่ทีมงานได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อยสมบูรณ์