“จีน” ลุยคุมเข้ม บ.เทคโนฯ หวั่นผูกขาดตลาด
“แบงก์ชาติจีน” เดินหน้าคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี หวั่นผูกขาดตลาด หลังเห็นแนวโน้มเติบโตกว่า 30% หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยในการประชุมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ว่า จีนจะยังคงควบคุมบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตต่อไป เพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมผูกขาดตลาด พร้อมยกระดับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในข้อมูลของผู้บริโภค
ผู้ว่าแบงก์ชาติจีน กล่าวว่า แบงก์ชาติจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่อต้านการผูกขาด เพื่อไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ใช้อำนาจของตัวเองในการเอาเปรียบคู่แข่ง โดยบริษัทแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจการเงินด้วยนั้นจะต้องจัดตั้งบริษัทโฮลดิง
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเริ่มคุมเข้มและเอาจริงกับการตรวจสอบพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลายแห่ง ตั้งแต่บริษัทในแวดวงเทคโนโลยี ก่อนจะลามไปถึงธุรกิจการศึกษา ต่างถูกจับตามองเป็นพิเศษจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีน
รัฐบาลจีนได้ระบุถึงเหตุผลในการคุมเข้มธุรกิจของภาคเอกชนว่า มาจากความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของภาคเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน และความมั่นคงของชาติ
อ่านข่าว : ฟินเทคจงระวัง! ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนลั่นเล่นงานต่อเนื่อง
หากพิจารณาจากข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนนั้น พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 38.6% หรือกว่า 1 ใน 3 ของ GDP จีนในปี 2563 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2551 ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วในชั่วระยะเวลาเพียง 10 ปีเศษ โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะรัฐบาลจีน คอยส่งเสริมและผลักดันธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงค่อนข้างให้อิสระเสรีในการขยายการเติบโต
ดังนั้นกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมานั้นจึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่รัฐบาลจีน จะต้องวางกติกาใหม่เพื่อให้ผู้เล่นทุกคนยึดกฎเดียวกัน เพื่อลดความไม่ยุติธรรมและความปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพตลาดในระยะยาว