ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.อุบลฯ สั่งกรมชลประทานเฝ้า 24 ชม.

ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.อุบลฯ สั่งกรมชลประทานเฝ้า 24 ชม.

รมว.กษ. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี สั่งการให้กรมชลประทานเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 

วันที่ 10 ต.ค.64  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมนี้คณะได้รับฟังการรายงานสรุปสถานการณ์น้ำ ณ บริเวณเขื่อนธาตุน้อย การบริหารจัดการน้ำและความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านแก้งโพธิ์ ต.ค้อทอง อ.เขื่อนใน จ.อุบลราชธานี 

อ่านข่าว : "ยุทธพงศ์" กล่าวหา "2ป." ต้นตอน้ำท่วม-ชี้พิรุธ "งบ" ซื้อเครื่องสูบน้ำ567ลบ.

ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.อุบลฯ สั่งกรมชลประทานเฝ้า 24 ชม.

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (เขื่อนธาตุน้อย) จ.อุบลราชธานี ว่า จากการรับฟังการรายงานสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน และแนวโน้มสถานการณ์น้ำ คาดว่ามวลน้ำจากทางตอนบน ซึ่งยอดน้ำอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม จะเดินทางมาถึงเขื่อนยโสธร-พนมไพร ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 นี้ ซึ่งพนังกั้นแม่น้ำชีของเขื่อนยโสธร-พนมไพร สามารถรองรับน้ำได้ถึง 1,700 ลบ.ม./วินาที และระดับน้ำปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าคันพนัง 2.00 ม. จึงสามารถรองรับน้ำปริมาณดังกล่าวได้ แต่จะมีผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก และมวลน้ำจะเดินทางมาถึงเขื่อนธาตุน้อยในวันที่ 18 ตุลาคม 2564

ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.อุบลฯ สั่งกรมชลประทานเฝ้า 24 ชม.

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการกรมชลประทานให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ พร้อมเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือให้พร้อมสำหรับเข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน  
     

  “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งในหลายแห่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งรัดงบประมาณในเรื่องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบของกรมบัญชีกลางให้แล้วเสร็จ ใน 60 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งและน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นอกจากนี้จะเร่งรัดงบประมาณตามแผนการขอสร้างสถานีสูบน้ำ ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมชลประทานมีความพร้อมในเรื่องของเครื่องจักรอุปกรณ์ สถานีสูบน้ำ และยังมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนและเกษตรกรลดความวิตกกังวล” ดร.เฉลิมชัย กล่าว 

ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ จ.อุบลฯ สั่งกรมชลประทานเฝ้า 24 ชม.


        ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน  (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่ตัวแทนเกษตรกร อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี และได้มอบถุงยังชีพและอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้ 

ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส.ป.ก.อุบลราชธานี มีพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินครอบคลุม 24 อำเภอ เนื้อที่รวม 2,414,764 ไร่ ดำเนินการจัดที่ดินแล้ว 1,674,174 ไร่ คงเหลือพื้นที่กำลังดำเนินการจัดที่ดิน 1,833,799 ไร่ สำหรับพื้นที่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,116 ราย เนื้อที่ 5,910 ไร่ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำดังกล่าวนอกจากจะช่วยในการระบายน้ำในฤดูฝนแล้ว ยังสามารถช่วยให้มีปริมาณน้ำเพื่อใช้ ในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอตลอดปี